Posted by: chaosinbooks | 02/07/2009

แจ้งข่าว

ยินดีต้อนรับเข้าสู่บล็อกของผมครับ

Posted by: chaosinbooks | 23/09/2010

โมฆะ

(บทกวี)                        โมฆะ                                 

       

เราก้าวมาไกลมากจากจุดนั้น       ดุ่มเดินด้นดั้นสู่เป้าหมาย

 หวังยลแสงดาวพราวพราย         ส่องฉายความดีแก่ผู้คน

  คือการศึกษาค่าวิจิตร                สร้างสรรค์ชีวิตผลิตผล

   ชุบชูค่ามนุษย์ปุถุชน                 เพื่อพัฒนาตนพัฒนาใจ

    ให้เหนือกว่าปวงสัตว์เดรัจฉาน     มีจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่

    มีศักดิ์ศรีเลิศล้ำผ่องอำไพ           ห่างไกลอวิชชามายาชีวิต

     แต่การศึกษากลับทำลายคน         สังคมสับสนจนวิกฤติ

     เหมือนเปลวไฟไหม้ลามไปทุกทิศ   โลกทรรศน์เบี้ยวบิดผิดศีลธรรม

      ยิ่งเรียนรู้นับวันเห็นแก่ตัว              เกลือกกลั้วโมหะจิตคิดใฝ่ต่ำ

      ยิ่งเก่งยิ่งฉ้อฉลปนระยำ               พฤติกรรมสำแดงเห็นแจ้งชัด

      การศึกษาเป็นโมฆะมาตลอด        ศาสนาก็ใบ้บอดเงียบสงัด

       คุณธรรมความดีถูกทานทัด           เงินคือตัวชี้วัดความเป็นคน

       คนยังคงหลงเงินตราบ้าอำนาจ         ปริญญาคือกระดาษดูเกลื่อนกล่น

        อนาคตชาติแหลกลาญพิการพิกล      ปฏิรูปอีกกี่หนก็ผิดทาง

         เราก้าวมาไกลมากจากจุดนั้น           แต่ยังไปไม่ถึงฝันอันพราวพร่าง

         นาวารัฐอาจล่มจมอับปาง             การศึกษาไม่ได้สร้างปัญญาคน                                                                             

                                                            เชาว์ศิลป์  จินดาละออง

                            

            ——————————————————————————————————-

สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ : กันยายน  2553

                            

Posted by: chaosinbooks | 27/08/2010

กำแพงแห่งสายใย

(เรื่องสั้น)                          กำแพงแห่งสายใย 

         ————————————————————————–

                       

ผมทราบข่าวจากทางบ้านว่าปีนี้พ่อกับแม่จะเป็นเจ้าภาพทอดกฐินหาเงินเข้าวัดมาสร้างโบสถ์ที่ค้างคามานานหลายปี  ซองกฐินปึกใหญ่ที่ถูกส่งมาทางไปรษณีย์เมื่อสองสามวันก่อนผมได้เปิดอ่านดูแล้ว  ในนั้นมีรายชื่อลูกๆ หลาน ๆ  ลุง ป้า น้า อา และคนรู้จักมักคุ้นร่วมกันเป็นคณะกรรมการเรียงกันเป็นตับ   ผมเอาซองเหล่านั้นไปแจกเพื่อนๆ ในที่ทำงาน รวมทั้งเพื่อนร่วมซอย  หวังช่วยทำบุญกันตามกำลังศรัทธา          

            วานนี้เองพี่ศักดิ์พี่ชายคนโตก็โทร.มาจากหนองคายบอกว่าจะเดินทางลงมาในวันจันทร์ที่จะถึง  กะแวะบ้านผมที่เมืองนนท์ก่อนแล้วค่อยเดินทางลงใต้ไปพร้อมกัน  ผมได้โอกาสเหมาะขอติดรถพี่ชายไปด้วย เพราะรถยนต์เก่าของผมเครื่องมันรวนเต็มที  นครศรีธรรมราช  ระยะทางเจ็ดร้อยกว่ากิโลเมตรไม่ใช่น้อยๆ เลย ฝืนขับไป เกิดมันทรยศขึ้นมาระหว่างทางมีหวังซวยแน่ๆ  แต่ถึงอย่างไร ผมก็คลายกังวลไปได้เปลาะหนึ่งเมื่อหาทางออกให้ตัวเองสำเร็จ  แต่พอบอกกล่าวเรื่องนี้ให้ภรรยารับรู้เท่านั้นแหละ  สีหน้าและแววตาของเธอฉายความไม่พอใจออกมาแจ่มชัด

            “ไปรถทัวร์ยังดีเสียกว่า  อึดอัดใจเปล่าๆ  หากนั่งไปกับพี่เล็ก”

            คนที่เธอเอ่ยถึงก็คือพี่สะใภ้  ซึ่งภรรยาผมไม่อยากจะเข้าใกล้สักเท่าไหร่  เพราะรู้นิสัยพี่เล็กดีว่าชอบคุยโม้โอ้อวดแต่เรื่องเงินๆ ทองๆ และความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวตัวเองจนคนฟังเขาพากันเอือมระอา

            “คิดมากไปได้  ทนๆ เอาหน่อยก็แล้วกัน” ผมเตือนสติภรรยาให้รู้จักข่มใจเอาไว้บ้าง  เป็นญาติพี่น้องกันจะไปถือโทษโกรธเคืองด้วยเรื่องคำพูดคำจาเล็กๆ น้อยๆ ก็กระไรอยู่

            ความจริงผมเองก็ใช่ว่าจะชอบนิสัยอวดร่ำอวดรวยของเธอนักหรอก  พี่เล็กคงเห็นเราเป็นข้าราชการเงินเดือนกระจอกงอกง่อย  จะไปสู้รายได้ของคนทำมาค้าขายได้อย่างไร  เธอเป็นเจ้าของร้านเฟอร์นิเจอร์ใหญ่โตอยู่ในตัวจังหวัด และยังมีหุ้นส่วนรับเหมาก่อสร้างอีกต่างหาก กิจการหลังนี้เป็นหน้าที่ของพี่ชายผมโดยตรงในการรับผิดชอบอย่างเต็มตัว  ดูแล้วในหมู่พี่น้องด้วยกัน ไม่มีใครมีฐานะเทียบเทียมพี่ศักดิ์ได้สักคน  ยิ่งพจน์น้องชายคนเล็ก  ซึ่งเป็นตำรวจตระเวนชายแดนยศแค่นายสิบ  เงินเดือนยิ่งน้อยกว่าผมอีก    

             จำได้ว่าเจอกันครั้งก่อนพี่สะใภ้ก็พูดคุยถึงฐานะความเป็นอยู่ของผม  น้ำเสียงฟังออกจะเหยียดๆ อยู่ในที “บอกแล้ว เป็นครูแล้วเมื่อไหร่จะรวย”

            “ผมไม่ได้หวังอะไรมากหรอกพี่  เอาแค่พออยู่พอกิน  ลูกเมียไม่อดอยากก็พอใจแล้ว”

            “วิทย์น่าจะหางานอย่างอื่นมาเสริมรายได้บ้าง  เช่นขายประกัน  ขายแอมเวย์  เห็นว่ารายได้ดี  บางคนทำยอดถึง  ได้ไปเที่ยวเมืองนอกเมืองนาเชียวนะ”

            “ผมไม่เอาด้วยหรอกขายของพวกนั้น  ยิ่งไม่ถนัด  ผมสอนพิเศษเด็กวันหยุดเสาร์อาทิตย์พอกล้อมแกล้ม  เป็นค่ากับข้าว  ค่าน้ำมันรถเท่านั้นแหละ” ผมบอกไปตามความจริง  

            ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องรายได้จะเป็นรอยแยกระหว่างความผูกพันในครอบครัวของเราได้  คล้ายเป็นกำแพงแห่งสายใยที่มองไม่เห็น         

            แต่ถึงอย่างไรในวันเดินทางผมกับภรรยาก็ต้องอาศัยรถพี่ชายไปอยู่ดี  พี่ศักดิ์ตีรถจากหนองคายลงมาตอนกลางคืนถึงนนทบุรีเอาตอนเช้าตรู่  แล้วแวะเข้ามารับผมในซอยริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านพระนั่งเกล้า ซึ่งเขาเคยมาเพียงครั้งเดียว   ผมแปลกใจไม่เห็นพี่เล็กนั่งมาด้วย  ตามปกติผัวเมียคู่นี้มักจะไปไหนมาไหนด้วยกันเป็นประจำ 

            “พี่เล็กล่ะ?”

            พี่ชายนั่งหน้าขรึมอยู่หลังพวงมาลัย  ยิ้มแห้งๆ  ก่อนเอ่ยตอบ “ไม่มีคนเฝ้าร้าน”            ผมนึกตำหนิในใจ  คนอะไรทางบ้านเป็นเจ้าภาพทำบุญกฐินทั้งทียังเสียดายรายได้อยู่อีก

            “น่าจะหยุดรวยสักวันสองวัน  ขนหน้าแข้งไม่ร่วงหรอก” ผมเหน็บแนมทีเล่นทีจริงถึงพี่สะใภ้  พลางหันไปทางภรรยาซึ่งก้าวตามขึ้นมานั่งบนเบาะหลัง  เหลือบเห็นใบหน้าของเธอเบ่งบานด้วยรอยยิ้ม  นั่นหมายถึงการนั่งรถเที่ยวนี้มีแต่ความปลอดโปร่งโล่งอารมณ์ไปตลอดทาง  เพราะไม่มีคนมาพูดจากระทบกระแทกให้ระคายเคืองจิตใจ       

            งานทอดกฐินวันนั้นพ้นผ่านไปด้วยดี  พ่อกับแม่ยิ้มกริ่มที่เห็นลูกๆ  มากันพร้อมหน้าพร้อมตา  ยกเว้นบางคนที่มีเหตุผลส่วนตัวที่ออกจะคับแคบจนผมไม่อยากพูดถึง   เงินที่เราช่วยกันเรี่ยไรมารวมกันในหมู่เครือญาติเป็นเงินเกือบสามหมื่น  นี่ยังไม่นับรวมกับกองกฐินของคณะอื่นที่มีจิตศรัทธาร่วมกัน  แม่ได้แต่ขอบบุญขอบคุณลูกๆ  หลานๆ  ตลอดจนเครือญาติทุกคนที่มีใจกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวกัน  โบสถ์ในวัดใกล้บ้านที่เห็นแต่โครงหลังคาโหว่มานานจะได้เสร็จสมบูรณ์เสียที  ชาวบ้านก็คงดีใจที่เห็นวัดมีสง่าราศีขึ้นมาบ้าง    

            ทุกคนพลอยอิ่มบุญไปกับการทอดกฐินในครั้งนี้  อำลาพ่อแม่ก่อนเดินทางกลับด้วยสีหน้าแช่มชื่นปนห่วงใย  ยกเว้นพจน์คนเดียวที่นอนต่ออีกคืนก่อนกลับไปปฏิบัติหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่ปัตตานี   ชีวิตเขาเสี่ยงภัยไม่น้อยกับสถานการณ์อันโหดร้ายซึ่งเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวันในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้    ผมเองภาวนาอยู่เสมอว่าอย่าให้มีเหตุอะไรเกิดขึ้นกับเขาเลย 

            ตอนขาขึ้นกรุงเทพฯ พี่ศักดิ์เข้ามาส่งผมกับภรรยาในซอยเดิมอีกครั้ง  เขานอนพักที่บ้านผมคืนหนึ่ง  เช้าตรู่วันรุ่งขึ้นถึงเดินทางต่อ  เพราะต้องไปเร่งสร้างถนนให้เสร็จส่งมอบทันกำหนด ไม่ลืมเชิญชวนผมขึ้นไปเที่ยวหนองคายบ้าง  จะพาข้ามไปเที่ยวเวียงจันทน์  หลวงพระบาง

            คงยากอยู่หรอกสำหรับผมในการได้มีโอกาสไปพักผ่อนหย่อนใจเช่นนั้น  อย่างที่รู้เงินทองมันไม่ค่อยเอื้ออำนวยสักเท่าไหร่  หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูก็ยังเหลืออีกบาน  แต่วาสนาของผมไม่ถึงกับริบหรี่เสียทีเดียว   บังเอิญช่วงปิดภาคเรียนปีนั้นทางโรงเรียนได้จัดทัศนศึกษาพาคณะครูไปเที่ยวดูงานในจังหวัดทางภาคอีสาน  เช่นกาฬสินธุ์  นครพนม  หนองคาย  อุดรธานี  ขอนแก่น ฯลฯ  ผมรีบลงชื่อตอบรับการไปในครั้งนี้โดยไม่ลังเล  เพราะนอกจากไปเที่ยวฟรีแล้ว  ผมกะจะไปแวะเยี่ยมพี่ชายสักครั้ง 

            และสิ่งที่ผมวาดฝันก็เป็นไปตามแผนการ  เมื่อรถทัวร์ทัศนศึกษาของคณะครูจากนนทบุรี ไปถึงหนองคายเอาตอนบ่ายแก่ๆ  ตามหมายกำหนดการเราได้แวะเข้าไปดูงานที่โรงเรียนประจำจังหวัดพอเป็นพิธี  เพื่อให้แลดูสมเหตุสมผลในการเบิกจ่ายเงินโรงเรียน  จริงๆ แล้วหลายคนไม่ได้สนใจจะดูงานอะไรหรอก  ตั้งหน้าตั้งตาไปเที่ยวเอามันเสียมากกว่า  ก็ดูสิ พอรถออกก็ร้องเพลงคาราโอเกะกันสนุกสนาน  บ้างก็ตั้งวงเล่นไพ่กันไปในรถตลอดทาง    

            หลังจากเข้าพักในโรงแรมเรียบร้อยแล้ว  ทางคณะปล่อยให้เราไปเดินเที่ยวซื้อของแถวตลาดท่าเสด็จ  ซึ่งมีสินค้าหนีภาษีให้เลือกซื้อได้ตามชอบใจ  บางกลุ่มก็ไปหาทำเลเหมาะๆ นั่งจิบเบียร์กินแหนมเนืองชมทิวทัศน์ระหว่างสองฝั่งแผ่นดินไทย-ลาว  ช่วงนั้นเองผมได้โทรศัพท์ให้พี่ศักดิ์ออกมารับ  ผมกระซิบบอกเพื่อนครูที่นอนห้องเดียวกันว่าขอไปเยี่ยมญาติ  ไม่แน่อาจนอนที่นั่นสักคืน  รุ่งเช้าจะรีบกลับมาให้ทันรถออกหน้าโรงแรม  เพราะในหมายกำหนดการเราจะต้องเดินทางไปยังเขื่อนอุบลรัตน์ต่อ

            ผมรู้สึกผิดคาดเมื่อไปถึงบ้านของพี่ชาย  ดูแล้วมันไม่ได้เป็นร้านค้าเฟอร์นิเจอร์ใหญ่อย่างที่คิด   เป็นเพียงตึกแถวห้องแคบๆ อยู่ในซอยเล็กๆ ย่านริมโขงเท่านั้นเอง

            “อ้าว พี่เล็กไม่อยู่หรือ?” ผมถามถึงพี่สะใภ้ด้วยความสงสัย

            ตอนนั้นเองผมได้เห็นสีหน้าของพี่ศักดิ์เหงาซึมไปคนละคน “เราแยกกันอยู่ได้สักพักแล้วล่ะ    เรื่องมันยาว” เขาเงียบไปครู่หนึ่ง ถอนหายใจหนักหน่วง “โทษนะวิทย์ที่ฉันไม่ได้บอกแกตั้งแต่แรก”

            และแล้วเรื่องทั้งหมดก็พรั่งพรูออกมาจากปากของพี่ชายผมอย่างหมดเปลือก  เขาถูกฟ้องร้องเรื่องรับเหมาสร้างถนนสายหนึ่งให้กับทาง อบต. ทั้งๆ ที่ลงทุนลงแรงไปมากมายก่ายกอง  แต่พองานเสร็จคณะกรรมการตรวจรับกลับไม่ยอมเซ็นผ่าน  เพราะใช้วัสดุก่อสร้างไม่ตรงสเปคตามที่กำหนดไว้ในสัญญา  ไม่ว่ากรวด หิน ดินทราย  หรือเหล็กเส้น  ความจริงค่าเปอร์เซนต์อะไรต่างๆ ก็ใส่ซองให้แล้วทุกคน  แต่ผลมันออกมาเป็นแบบนั้นได้ยังไงก็ไม่รู้   พี่ชายผมมาสืบทราบเอาภายหลังว่าคณะกรรมการในกลุ่มเกิดขัดแย้งแบ่งผลประโยชน์กันไม่ลงตัว  นายก อบต. เจ็บใจตั้งแต่ทีแรกแล้วที่บริษัทลูกน้องประมูลงานครั้งนี้ไม่ได้  เลยหันมาดัดหลังห้างหุ้นส่วนของพี่ศักดิ์แทน  วิ่งเต้นไปหาคนโน้นคนนี้มีแต่คนส่ายหน้า  นึกโทษตัวเองที่อ่อนหัดไม่ทันเกม  ศาลตัดสินไปเรียบร้อยแล้ว   ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับทางการจำนวนหลายล้าน บ้านและที่ดินริมโขงเลยถูกยึดไปใช้หนี้เขาแทบหมดเนื้อหมดตัว    

            “หมายความว่าพี่กับพี่เล็กหย่ากันแล้วสิ?”

            “แค่แยกกัน  แต่พี่ต้องออกมาอาศัยห้องเช่าหลังนี้  เพราะมีปากเสียงทะเลาะกันไม่เว้นวัน”

            “แล้วพี่จะคิดวางแผนชีวิตยังไงต่อ  เมื่อทุกอย่างพังทลายลงอย่างนี้”    

            “ก็ยังคิดอะไรไม่ออก   มันต้องช่วยเหลือตัวเอง   นี่ก็เปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวพอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องไปพลางก่อน” พี่ศักดิ์ยังไม่ได้หมดหวังในชีวิตเสียทีเดียว           

              “เสียใจด้วยนะพี่” ผมรู้สึกสะเทือนเข้าไปในหัวอกขณะพูดปลอบใจพี่ชาย   รถยนต์คันงามที่ผมเคยนั่งลงใต้ไปด้วยกันเมื่อปีก่อน  บัดนี้ไม่มีเหลือแม้เงา

            ผมไม่อยากเชื่อว่าคนมีเงินอย่างพี่ศักดิ์ชีวิตจะหล่นร่วงลงมากระแทกพื้นอย่างแรงขนาดนี้  ผมกล่าวลาพี่ชายด้วยความรู้สึกขมขื่น   ให้กำลังใจเขาว่าคนเราล้มได้ก็ลุกได้

            อีกไม่กี่เดือนให้หลัง  พี่ศักดิ์เดินทางลงมาเยี่ยมผมอีกครั้งหนึ่ง  มาดเสี่ยของพี่ชายเมื่อก่อนโน้นไม่เหลือเค้าให้เห็นอีกเลย   พี่ศักดิ์ลงจากรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างตรงหน้าบ้านแบบสีหน้าหุบแห้ง  หุ่นผอมลงกว่าเดิม   ภรรยาผมชงกาแฟออกมาต้อนรับ  และปล่อยให้เราสองคนนั่งคุยกันตามประสาพี่น้อง 

            “บ้านแกสบายดีนะวิทย์” พี่ชายผมออกปากชม พลางส่ายตามองไปรอบๆ

            “แค่ทาวน์เฮ้าส์เล็กๆ   ไม่ได้หรูหรา  พี่ก็รู้อยู่แล้วว่าชีวิตครูเป็นอย่างไร”

            “เมื่อก่อนบ้านพี่หลังใหญ่โต  แต่หาความสุขไม่ค่อยได้” เขาหยุดครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่ง แล้วระบายความในใจให้ผมฟัง “แปลกนะคนเราคิดแต่จะแข่งขันกันร่ำรวยเพื่อให้เหนือคนอื่น  แสวงหาความสุขปลอมๆ ไปวันๆ  ที่แท้ก็แสวงหาทุกข์เข้าตัว  พี่ยอมรับว่าพี่เองหลงทาง  วิทย์ก็รู้ว่าพี่พลาดเรื่องงานจนถูกฟ้องร้อง  คิดอยู่อย่างเดียวคือ “เงิน” หวังฟันกำไรงามๆ โดยลดต้นทุนวัสดุก่อสร้างให้น้อยลง  พูดง่ายๆ ก็คือโกงเขานั่นแหละ  ผลกรรมมันตามทัน”                 

            “แล้วพี่เล็กกับลูกจะว่ายังไง”

            พี่ศักดิ์ระบายยิ้มจางๆ  เหมือนไม่กล้าเอ่ยความจริงออกมา 

            “ตอนนี้เรากลับมาอยู่ด้วยกันแล้ว  เริ่มต้นชีวิตกันใหม่   พี่ดีใจที่เล็กเขาทำใจได้แล้ว  ทรัพย์สินที่สูญเสียไปจากการถูกฟ้องร้อง เธอบอกว่าจะไม่คิดถึงมันอีก”

            “ทำกิจการเดิมหรือเปล่าพี่?” ผมถาม  นึกหวั่นๆ  กลัวเหตุการณ์จะพลิกกลับมาซ้ำรอยเดิม

            “ไม่เอาแล้วรับเหมาก่อสร้าง  ขายก๋วยเตี๋ยวดีกว่า  ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น” 

            ผมหายใจโล่งอกเมื่อครอบครัวของพี่ชายเปลี่ยนไป  เขาคงไม่คิดยึดติดอะไรอีก  พี่เล็กก็คงปล่อยวาง  “คนเราจะไขว่คว้าอะไรกันนักหนา  ในเมื่อวันข้างหน้ามีแต่ความว่างเปล่า” ผมนึกจะเตือนสติพี่ชายอีกครั้ง  แต่ก็ไม่ได้พูดอะไรออกไป       

            ————————————————————————

 กุลสตรี:กรกฎาคม 2553

Posted by: chaosinbooks | 18/08/2010

วิกฤติคน

                                              วิกฤติคน

          คงจะต้องลำบากมากกว่านี้                   ทางข้างหน้ายังมีแต่ขวากหนาม

          ทั้งหุบเขาห้วงเหวอันเลวทราม              ล้วนเป็นความหายนะต้องเผชิญ

          อุปสรรคทุกทิศทางปิดขวางกั้น             เราต้องบั่นบุกไปไม่ขัดเขิน

          ถือธงธรรมนำใจให้ก้าวเดิน                พร้อมประเมินความแข็งแกร่งแห่งพลัง

          ทุกสิ่งล้วนแปรผลจากต้นเหตุ              จึงประเทศวิกฤติชวนผิดหวัง

          นาวารัฐซัดส่ายมาหลายครั้ง              ไม่เคยเข้าเทียบฝั่งอันแสนงาม

         เพราะการเมืองแย่งอำนาจชาติชำรุด     กลายเป็นจุดพลิกผันน่าหวั่นหวาม

         เรามีประชาธิปไตยแค่ในนาม            สวนกับความเป็นจริงอย่างแจ้งชัด

        ดูแล้วเวทนาประชาชน                    อยู่ท่ามกลางความสับสนจนแกว่งกวัด

        การโกงกินพ่นพิษร้ายทำลายรัฐ          มันฟอนฟัดสังคมแทบจมมิด                      

       หรือเป็นเพราะการศึกษาเราไร้ผล        ไม่ได้สร้างปัญญาคนให้ไพจิตร

       ไม่ได้วางเป้าหมายให้ถูกทิศ               ทุกอย่างจึงเบี้ยวบิดและผิดเพี้ยน

        การศึกษาพิกลผลดอกร่วง               คุณธรรมทั้งปวงก็แปรเปลี่ยน                 

       ปริญญาแค่กระดาษเนื้อใสเนียน         บอกให้รู้ว่าร่ำเรียนอะไรมา

       บางคนเติบโตใหญ่ในชีวิต                ความสำนึกต่ำติดแค่ยอดหญ้า

       เป็นผู้แทนเถื่อนถ่อยด้อยราคา         บ้างคอยคิดแสวงหาประโยชน์ตน

      เป็นข้าราชการรับใช้งานของชาติ       แต่หัวใจเป็นทาสน่าหมองหม่น

      หน้าที่หลักคือรับใช้ประชาชน           แต่ไม่สน…กลับไปรับใช้เงิน

      วิกฤติคนคือวิกฤติการศึกษา             ไม่ใช่เป็นปัญหาเพียงผิวเผิน

     คนคิดชั่วชาติช้ำไม่จำเริญ                 ยิ่งก้าวเดินยิ่งหลงลงปลักตม

     คงจะต้องลำบากมากกว่านี้              เพราะยังมีปัญหาบ่าทับถม                      

     ต้องช่วยกันแก้ไขคลายเงื่อนปม         ปัญญาคนปัญญาคมคืออาวุธ

    การศึกษานำพาชาติให้แกล้วแกร่ง        เป็นพลังทิ่มแทงอันสูงสุด

    เป็นประทีปเรืองรองของมนุษย์           เราต้องจุดไฟปัญญาสร้างค่าคน                                                                         

                                                                      เชาว์ศิลป์  จินดาละออง

            วิทยาจารย์: เมษายน 2553

(เรื่องสั้น) ช้างกระของแม่กับรอยรำลึกแห่งแสงสว่าง                                              

                                                                                               

           “ขอให้ลูกทำดีเพื่อแม่สักครั้งได้ไหมต้น”        

            แม่พูดน้ำตาคลอ  เสียงสั่นพร่าแกมสะอื้น  หากลึกลงไปในหัวใจคงขมขื่นเกินจะหยั่งวัด  หลายครั้งแล้วที่ผมทำให้แม่ต้องแบกหน้ามาโรงเรียนด้วยความอับอาย หลังจากฝ่ายปกครองมีหนังสือแจ้งให้มารับทราบพฤติกรรมอันเหลวแหลกของผม ครั้งนี้ก็เช่นกันที่ผมและเพื่อนๆ ถูกตำรวจนำตัวไปโรงพักเนื่องจากโดดเรียนไปมั่วสุมกินเหล้ากินเบียร์กันที่คอนโดของเพื่อนใกล้แม่น้ำ ตามปกติเราชอบหนีเรียนเป็นประจำอยู่แล้ว  แต่วันนั้นโชคร้าย ไอ้ดำหรือดำรงเพื่อนซี้ของผมเมาหนักไปหน่อย มันขว้างขวดเบียร์ใส่หลังคาบ้านเขา ไม่ทันถึงครึ่งชั่วโมงเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ขึ้นมาเคาะประตูห้องบนชั้น ๔ หลังจากได้รับแจ้งจากเจ้าของบ้านที่ออกมาด่าโวยวายอยู่ข้างล่าง เราถูกกล่าวหาว่าก่อกวนสร้างความรำคาญให้คนอื่น แต่ละคนหน้าม่อยด้วยความมึนเมาตอนนั่งท้ายรถกระบะของตำรวจไปโรงพัก ไอ้ดำยังทำขายหน้าหนักเข้าไปอีกเมื่ออ้วกใส่โต๊ะร้อยเวรขณะบันทึกประจำวันจนเหม็นหึ่งไปทั้งห้อง

 เราหายเมาเป็นปลิดทิ้งเมื่อครูฝ่ายปกครองมาถึง ใครคนหนึ่งในนั้นพูดติดตลกขึ้นมา “โน่นพ่อมึงมาแล้ว”พ่อคนที่ว่าหมายถึงครูกรซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับพวกเด็กเกเรที่ชอบทำตัวผิดกฎระเบียบของโรงเรียนนั่นเอง สีหน้าของครูกรออกอาการหดหู่ให้เห็นอย่างชัดเจนขณะมาเจอลูกศิษย์ในสภาพที่รับไม่ได้

“เมากันเละเลย เด็กโรงเรียนของอาจารย์ใช่ไหม?” ร้อยเวรหนุ่มร้องทัก

“ใช่ครับ”ครูกรส่ายหัวไปมา “หน้าเดิมๆ นี่หว่า”                                                          

 “แย่..แย่ เด็กเดี๋ยวนี้  ดูสิเมากันทั้งเครื่องแบบนักเรียน เห็นแล้วปวดหัว สงสารอนาคตของชาติจริงๆ” ร้อยเวรบอกกับครูฝ่ายปกครอง “ผมลงบันทึกเรืองราวทั้งหมดไว้เรียบร้อยแล้ว อาจารย์ลองอ่านดู  เซ็นรับทราบเสียหน่อย แล้วเอาไปลงโทษทางระเบียบวินัยของโรงเรียน เออมีดดาบสองเล่มโรงพักขอยึดไว้เป็นหลักฐาน”                                          

หลังจากตำรวจว่ากล่าวตักเตือนเชิงขู่ว่าคราวหน้าหากเจออีกหนจะเล่นงานเสียให้เข็ด จากนั้นก็ปล่อยตัว เราเดินตามหลังครูกรขึ้นรถตู้กลับโรงเรียน พอไปถึงแกก็โทรศัพท์เชิญผู้ปกครองของทุกคนมาพบที่ห้องปกครองทันทีที่ไปถึง แต่เมื่อวานแม่ผมมาไม่ได้จริงๆ ติดขัดเรื่องงานอะไรสักอย่าง ต้องขอผัดผ่อนครูว่าจะมาในวันรุ่งขึ้น

ผมหวั่นใจอยู่ครามครัน  สงสัยจะต้องถูกออกแน่ๆ   เดือดร้อนแม่ต้องหาที่เรียนใหม่ให้ผมอีก  เพราะใบทัณฑ์ในความผิดครั้งก่อนของผมยังแช่อยู่ในแฟ้มของฝ่ายปกครองไม่ต่ำกว่าสองใบ  ไม่นับรวมความผิดเล็กๆ น้อยๆ  ประเภทมาโรงเรียนสาย ปล่อยชายเสื้อออกนอกกางเกง เหยียบส้นรองเท้า  ซึ่งถูกว่ากล่าวตักเตือนอยู่เป็นประจำจนครูอาจารย์หลายคนพากันเอือมระอา

 ครูกรมองหน้าผมกับหน้าแม่สลับกันไปมา  ก่อนเดินไปที่ตู้เก็บเอกสารข้างโต๊ะทำงาน  หยิบแฟ้มที่เขียนว่า “สมุดบันทึกพฤติกรรมนักเรียน” ออกมากางแผละ  พลิกหาใบทัณฑ์บนที่เรียงรวมกันอยู่หลายใบในนั้น โดยแบ่งเป็นระดับม.ต้น ม.ปลาย  ครูกรทบทวนให้แม่ฟังในความผิดครั้งที่แล้วกรณีพกพาอาวุธมาโรงเรียน  เป็นมีดปลายแหลมยาวขนาดศอกเศษ  ซึ่งผมกะจะเอามาป้องกันตัว  เพราะทราบข่าวว่าวันนั้นคู่อริอีกโรงจะยกพวกมาดักเล่นงานเราที่ป้ายรถเมล์หลังเลิกเรียน  บังเอิญครูเวรประตูตรวจค้นกระเป๋าเจอเสียก่อน  อีกความผิดหนึ่งก็คือทะเลาะวิวาทกับเพื่อนต่างห้องด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง  จะว่าไปแล้วผมเป็นเนื้อร้ายค่อนข้างเน่าที่โรงเรียนจะหั่นทิ้งเสียเมื่อไหร่ก็ได้   ครูกรพูดกับแม่อยู่นานว่าจะให้ผมออกแล้วไปหาเรียนที่อื่น   เพราะพฤติกรรมของผมอยู่ไปก็มีแต่จะทำให้โรงเรียนเสื่อมเสียชื่อเสียง  แต่แม่พยายามขอร้องแกมวิงวอน  ยกมือไหว้ครูฝ่ายปกครองขอความเห็นใจยกเว้นโทษให้ผมอีกสักครั้ง ไหนๆ ก็ใกล้จะสอบปลายภาคแล้ว  ไม่น่าเชื่อว่าจิตใจของครูกรจะอ่อนลง  และยอมให้อภัยในความผิดของผมจนได้  แต่กำชับเสียงแข็งต่อหน้าแม่ว่า “ครั้งนี้ขอให้เป็นครั้งสุดท้ายก็แล้วกัน”   

กลับมาถึงบ้านตอนเย็น  ผมโดนแม่สวดอีกรอบ  แถมด้ามไม้กวาดฟาดเข้ากลางหลังอีกสองขวับ  “จำใส่กบาลแกไว้ด้วย  ผิดอีกครั้งจะตัดหางปล่อยวัดทันที” แม่กราดเกรี้ยว   ผมคิดว่าครูกรน่าจะรู้อะไรหลายอย่างเกี่ยวกับตัวผมและแม่  เนื่องจากถูกเชิญไปห้องปกครองบ่อยเป็นว่าเล่น   โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องชีวิตในครอบครัวเราที่แม่กับพ่อหย่าร้างแยกทางกันตั้งแต่ผมยังเป็นเด็ก  พ่อไปมีเมียใหม่อยู่ที่อุดรธานี  ยึดอาชีพขายประกัน  มีอยู่ครั้งเดียวเท่านั้นที่พ่อแวะมาเยี่ยมเราที่บ้านเช่าหลังนี้   ผมเห็นทั้งสองคุยกันแบบไม่ค่อยสบอารมณ์   เพราะสายใยแห่งความรักความผูกพันได้เปื่อยสลายไปนานแล้ว  ที่แวะมาเยี่ยมคงจะคิดถึงลูกมากกว่า    

ความจริงแม่ผมเป็นคนสู้งานทุกอย่าง  เนื่องจากต้องหาเลี้ยงลูกคนเดียวมาโดยลำพัง  งานหลักของแม่ก็คือเป็นลูกจ้างทำความสะอาดอพาร์ตเมนต์สร้างใหม่แห่งหนึ่ง  ตกเย็นหรือเสาร์อาทิตย์แม่ยังรับจ้างซักรีดเสื้อผ้าอีกต่างหาก  ผมช่วยแม่ได้อยู่อย่างเดียวก็คือเอาเสื้อผ้าที่รีดเสร็จแล้วไปส่งตามบ้าน   นั่นคือสิ่งที่แม่พอจะพึ่งพาผมได้บ้าง

วันนั้นที่โรงเรียนมีการปัจฉิมนิเทศเด็กนักเรียนที่ใกล้จบ ซึ่งผมเป็นคนหนึ่งในจำนวนนั้น  แม่อุตส่าห์หาซื้อกล้วยไม้มาจากไหนไม่ทราบ เป็นช้างกระเสียด้วย  ช่อดอกลายขาวอมม่วงของมันย้อยลงมาเป็นพวงงามน่ารักอย่าบอกใคร

“แกเอากล้วยไม้ไปให้ครูกรหน่อยนะ บอกว่าแม่ให้เป็นที่ระลึก”

“ระลึกอะไรแม่”

“ก็ระลึกที่ครูเขามีน้ำใจไม่ไล่แกออกจากโรงเรียนไง”

ผมคิดว่าแม่คงคิดตามนั้นจริงๆ ไม่ได้มีเจตนาเป็นอย่างอื่น  แม่คงเห็นจิตวิญญาณของความเป็นครูที่ต้องเคี่ยวเข็ญเด็กเหลือขออย่างผมด้วยความเหนื่อยยาก  ผมยังเคยได้ยินแม่บ่นกับครูกรตั้งหลายครั้งว่ากระทรวงศึกษาธิการไม่น่าออกกฎระเบียบหักไม้เรียวครูเลย  เด็กทุกวันเลยเตลิดเหลิง ไม่ให้ความเคารพและเชื่อฟังครูอีกต่อไป  มีที่ไหนมาเรียนหนังสือแต่ไม่ยอมเรียน  กลับปีนกำแพงหนีไปเดินห้าง ไปมั่วสุมกันที่นั่นที่นี่   ครูคงเหนื่อยไม่ใช่เล่น ไหนต้องสอนหนังสือ  คาบว่างก็ต้องตระเวนออกไปดูเด็กที่หนีเรียนไปอยู่ตามร้านเกม  บ้างก็ร้านสนุกเกอร์ หรือสวนสาธารณะ  นักเรียนหญิงก็ไม่เบา  บางวันผมเห็นมีรถเก๋งคันงามโฉบมารับถึงหน้าประตูโรงเรียน ไปไหนต่อกันก็ไม่รู้   

ผมออกจะเขินๆ เมื่อหิ้วกระถางกล้วยไม้ไปให้ครูกรที่ฝ่ายปกครองในเช้าวันรุ่งขึ้น  ผมนั่งรออยู่พักหนึ่งกว่าครูจะมาถึง  แกงุนงงไม่นึกว่าจะมีผู้ปกครองคนไหนจะเอาของขวัญของฝากมาให้  แกพูดจาหยอกเย้าผมและยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ก่อนรับกระถางช้างกระขึ้นแขวนไว้กับกิ่งมะยมที่อยู่ริมหน้าต่าง        

หลังผมจบมัธยมต้นได้ไม่นาน  แม่ก็พาผมไปฝากงานเป็นลูกมือเถ้าแก่ร้านเหล็กดัดในซอย  พอมีรายได้มาจุนเจือครอบครัว เป็นการช่วยแม่อีกแรง   อีกอย่างแม่กลัวว่าผมจะไปเข้าแก๊งกับวัยรุ่นติดยา  เพราะเรื่องนี้แม่คอยเตือนนักเตือนหนาว่าอย่าไปมั่วกับเด็กพวกนั้นเด็ดขาด  เพราะแต่ละคนเป็นเด็กผี ทั้งสูบบุหรี่ กินเหล้า เสพยา  ซิ่งรถ ฯลฯ พ่อแม่คุมไม่อยู่จึงปล่อยไปตามเวรตามกรรม 

 หลังจากได้งานทำ  เช้าวันถัดมาผมก็ติดรถกระบะเถ้าแก่ไปทำงานทันที ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้งานเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อน   ช่วงแรกๆ ผมแค่ช่วยยกเครื่องไม้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ขึ้นรถลงรถ  คอยหยิบโน่นหยิบนี่ให้เขาเวลาประกอบติดตั้งมุ้งลวดเหล็กดัดให้ลูกค้าตามบ้าน ขณะเดียวกันก็เรียนรู้งานหาประสบการณ์ไปในตัว  เพียงไม่กี่เดือนผมก็ชำนาญขึ้นมาตามลำดับ   

ผมนึกอิจฉาไอ้ดำเพื่อนซี้อีกคน  ยังดีกว่าผมหน่อยที่มันได้เรียนต่ออาชีวะย่านปทุมธานี  แม่มันต้องขายปิ้งไก่และขยันโขลกส้มตำเพิ่มขึ้นวันละหลายครก เพื่อให้พอกับค่าเทอม ค่าหนังสือ  ค่าเสื้อผ้า  และค่าอะไรอีกจิปาถะ ซึ่งต้องใช้เงินทั้งนั้น  อนาคตข้างหน้ามันคงไปไกลกว่าผมอย่างไม่ต้องสงสัย  คิดแล้วน้อยใจตัวเองที่ครอบครัวผมจนยาก ดันเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่  ต้องเผชิญกับเศรษฐกิจที่โหดเหี้ยมเหมือนยักษ์คอยเคี้ยวกลืนชีวิตเราอย่างเลือดเย็น      

แต่บางครั้งชีวิตคนเราเอาแน่เอานอนอะไรไม่ค่อยได้   นึกถึงเพื่อนเก่าคนนี้ขึ้นมาทีไรผมก็อดเศร้าใจแทนไม่ได้   ตอนแรกผมว่ามันน่าจะก้าวไปได้สวยอย่างที่คิด  แต่ทำไปทำมาต้องเลิกเรียนเสียกลางคัน  เพราะมันโดนเด็กอาชีวะคู่อริดักเล่นงานเสียย่ำแย่   ผมยังเสียวสันหลังวาบเมื่อไปเห็นแผลตามหัว ตามแขนของมันตอนไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล ไอ้ดำเล่าให้ผมฟังว่ามันกำลังนั่งรถเมล์จะกลับบ้านในตอนเย็น  พอถึงบริเวณห้าแยกปากเกร็ด  รถยังไม่ทันจอดป้ายสนิทด้วยซ้ำ  นักเรียนอาชีวะสี่ห้าคนก็กรูขึ้นมาอย่างกะหมาหมู่  เอามีดไล่ฟันมันกับเพื่อนอีกสองคนแบบไม่ต้องดูหน้าดูตาว่าใครเป็นใคร ขอให้รู้ว่าอีกฝ่ายเป็นสถาบันคู่แค้นก็พอ   แต่มันโชคร้ายกว่าทุกคน   เพราะนั่งอยู่เบาะหลังสุด  เจอมีดดาบเข้าเต็มเปาโดยไม่ทันตั้งตัว  ต้องมุดแหวกคนหนีเลือดอาบหน้าลงมาแทบเอาชีวิตไม่รอด   หลังจากออกจากโรงพยาบาลก็ไม่ไปเรียนต่ออีกเลย  ผมรู้สึกใจหายทุกครั้งเมื่อเหลือบดูมือข้างขวา  นิ้วก้อยของมันขาดหายไปครึ่งหนึ่ง  อันเนื่องมาจากการถูกทำร้ายในวันนั้น   และกลายเป็นคนนิ้วด้วนไปโดยปริยาย  ในที่สุดก็มาวิ่งวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างอยู่แถวปากซอยหน้าโรงเรียน

วันหนึ่งผมกำลังเดินอัดบุหรี่พ่นควันโขมง   ทอดน่องสบายอารมณ์ไปยังร้านเหล็กดัด  เจอครูกรออกมาเดินเกร่อยู่ในซอยโดยบังเอิญ  มือที่คีบบุหรี่อยู่ก็ชักหลบโดยสัญชาตญาณ

“ยังไม่เลิกอีกหรือเรา” ครูกรทักทายผมก่อน 

ผมรีบยกมือไหว้ พร้อมออกปากถาม“ครูมาทำอะไรแถวนี้หรือครับ”

“ออกมาดูเด็กหน่อย  เมื่อวานได้ข่าวว่า นักเรียน ม.ต้นโดนวัยรุ่นมาขู่รีดไถเอาเงินตั้งแต่เช้าเลย  เธอพอรู้เรื่องบ้างไหม?”

ผมฟังเรื่องที่เกิดขึ้นก็ได้แต่ส่ายหน้าไปมา“เมื่อวานผมออกสายแล้วก็กลับเข้าบ้านเอาเกือบสองทุ่ม”

“มาถามๆ ดู  เห็นว่าเป็นเจ้าพ่อประจำซอยไม่ใช่หรือ  เผื่อรู้ความเคลื่อนไหวอะไรบ้าง” แกหยอกเย้าผมเล่นตามสไตล์เดิมในฐานะเคยขาประจำห้องปกครอง           

 “เรื่องไม่ดีพวกนั้นผมทิ้งไว้ที่โรงเรียนหมดแล้วแหละครับ”

“ขอให้จริงเถอะ  จะขออนุโมทนาสาธุ” ครูกรกล่าวสรรเสริญเยินยอแกมประชดประชัน  แล้วยังบ่นอีกว่า “เจ้าเกรียงน้องชายเธอที่เข้า ม.๑ ปีนี้ดูท่าทางไม่เบานะ  ดีไม่ดีฉันต้องปวดกบาลอีกคนเป็นแน่”

  ผมได้แต่ยิ้ม  เห็นแววน้องชายชักออกลีลาเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน

“ไม่ลองเรียนนักศึกษาผู้ใหญ่ด้วยล่ะ ดีกว่าปล่อยเวลาให้ผ่านไปเฉยๆ คนมีงานทำเขาเรียนกันถมเถ” ครูกรคุยกับผมอย่างเป็นการเป็นงานด้วยความมีเจตนาดีต่อศิษย์คนหนึ่ง  แนะนำให้ผมเรียนการศึกษานอกโรงเรียนในวันหยุดเสาร์อาทิตย์  เผื่อได้ต่อยอดอนาคตตัวเองให้ก้าวไกลไปอีกขั้น  ซึ่งดูแล้วเป็นทางออกทางเดียวสำหรับคนธรรมดา ที่จะแหวกว่ายให้หลุดพ้นไปจากปลักตมแห่งความจนกับเขาได้บ้าง

ตอนแรกผมคิดจะหันหลังให้กับการเรียนอย่างเด็ดขาด  แต่มาคิดถึงอนาคตข้างหน้า คนเราหากมีความรู้  มีประกาศนียบัตรไว้บ้างน่าจะได้เปรียบกว่าคนอื่นที่ไม่ได้เรียนอะไรเลย   นึกขอบคุณครูกรด้วยซ้ำที่ช่วยชี้ทางให้ผมมองเห็นแสงสว่างของชีวิต   ไม่งั้นเงินค่าจ้างรายเดือนที่ได้มาคงละลายหายไปกับเหล้าเบียร์  การพนัน เที่ยวผู้หญิง หมดไม่มีเหลือ

ผมเอาคำชี้แนะของครูมาตรองตรึกอยู่หลายวัน ลองถามแม่  แม่เออออเห็นดีเห็นงามด้วย  นั่นแหละผมถึงไปสมัครเรียนต่อการศึกษานอกโรงเรียนจนกระทั่งจบระดับชั้นม.ปลาย   ปีถัดมาผมได้งานใหม่เป็นพนักงานโรงงานทำเครื่องใช้ไฟฟ้าแห่งหนึ่งย่านนนทบุรี   และสมัครเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเปิดในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับสายงานไปพร้อมๆ กัน    

หน้าที่การงานของผมก็ได้รับเลื่อนสูงขึ้นไปตามลำดับ  หลังจากได้ปริญญาตรีมาพ่วงท้ายใบหนึ่ง  พอยืดอกยืดคอกับเขาได้บ้าง          

 จู่ๆ วันหนึ่งผมได้รับข่าวร้ายจากไอ้ดำเพื่อนเก่าว่าครูกรโดนวัยรุ่นดักแทงที่หน้าประตูโรงเรียน  ผมซักมันอยู่พักใหญ่จนกระทั่งได้ความจริงว่าอะไรเป็นอะไร  ผมจึงออกไปเยี่ยมครูที่โรงพยาบาลตามที่มันบอก   โชคดีที่หมอบอกว่าครูแค่ได้รับบาดเจ็บไม่ถึงขั้นสาหัส เพราะคมมีดไม่ถูกอวัยวะที่สำคัญ 

ครูกรนอนตาปรืออยู่บนเตียงห้องคนป่วยหลังจากหมอทำแผลเรียบร้อยแล้ว แกลำดับความเล่าเรื่องทั้งหมดให้ผมฟังด้วยน้ำเสียงเศร้าสร้อย       

“…..ตอนนั้นครูทรุดงอลงไปนั่งยองๆ อยู่กับพื้น เจ้าดำขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านมาพอดี  เขาเห็นเลือดสีแดงสดไหลออกมาเปื้อนเปรอะเสื้อตรงบริเวณหน้าท้อง  เขาจอดรถแล้วรีบประคองครูขึ้นคร่อมมอเตอร์ไซค์  ลัดเลาะซอยออกไปส่งที่โรงพยาบาลใกล้แม่น้ำ  ไม่ได้เจ้าดำ ครูก็คงแย่เหมือนกัน  เขายังให้การเป็นพยานกับตำรวจอีกว่าเห็นวัยรุ่นสองคนขี่มอเตอร์ไซค์พุ่งสวนไปแล้วขว้างมีดเข้าพงหญ้าหลังเกิดเหตุ  ตำรวจเลยเก็บไว้เป็นหลักฐาน  เพื่อเอาไปสืบสวนสอบสวนให้ถึงต้นตอ  ครูยอมรับว่าชะล่าใจไปหน่อย  เพราะมีคนโทรศัพท์มาที่ห้องปกครองบอกว่าเด็กนักเรียนกำลังมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันที่ป้ายรถเมล์หน้าโรงเรียน  ครูเลยรีบออกไประงับเหตุ  พอเดินพ้นประตูโรงเรียนไปได้ไม่กี่ก้าวเท่านั้นแหละ  มีวัยรุ่นคนหนึ่งพรวดออกมาจากข้างกำแพง  พุ่งเข้าประชิดตัว  มารู้อีกทีก็โดนมีดปลายแหลมเสียบเข้าให้แล้ว”    

นั่นเป็นเหตุการณ์เมื่อหลายปีก่อน…. ผมรู้ว่าครูเกษียณอายุราชการปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา  ก็ถือโอกาสเข้าไปอวยพรแสดงมุทิตาจิตต่อครูเก่าที่ผมเคารพรัก  ผมกับไอ้ดำนั่งอยู่ด้วยกันที่โต๊ะในงานเลี้ยงบนหอประชุมของโรงเรียน  ท่ามกลางแขกเหรื่อระดับผู้หลักผู้ใหญ่และเพื่อนฝูงรุ่นพี่รุ่นน้องหลากหลาย ซึ่งเติบโตในหน้าที่การงานแตกต่างกันไปตามระดับการศึกษา

  ช่วงนั่งกินเลี้ยงเจอหน้าเพื่อนเก่าก็ขุดคุ้ยเรื่องสารพัดเรื่องมาคุยโม้กัน บ้างก็สนุกกับการนินทาครูอาจารย์เก่าๆ กันตามประสา  โดยเฉพาะครูกรคนเดียวก็พูดกันได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่มีวันจบ มีทั้งเรื่องขำ เรื่องร้ายสารพัด  ช่วงหนึ่งครูลุกจากโต๊ะใหญ่เดินมาทักทายพวกเราอย่างเป็นกันเอง  สีหน้าท่าทางไม่มีมาดดุๆ ให้เห็นอีกแล้ว  เหลือแต่แววแห่งความเมตตาฉายชัดอยู่เต็มเปี่ยม  ภาพที่ครูถูกแทงเมื่อหลายปีก่อนยังไม่เคยเลือนหายไปจากความทรงจำ   ทุกคนต่างทราบกันดีว่าคดีนั้นตำรวจจับตัวได้ในตอนหลัง  ที่แท้คนร้ายเป็นเด็กที่ถูกออกจากโรงเรียนในข้อหาหลอกลวงนักเรียนหญิงออกไปข่มขืนกระทำชำเราจนเป็นข่าวขึ้นหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์แบบฉาวโฉ่   ครูกรย้อนอดีตเล่าเรื่องราวเหล่านั้นให้เราฟังเหมือนทบทวนรอยแผลเก่าที่ได้รับตอบแทนจากลูกศิษย์เนรคุณ  พลางตบไหล่ผมกับไอ้ดำ

“ดีนะ ที่พวกเธอไม่ได้ออกไปเป็นขยะสังคม”

            ผมระบายยิ้มด้วยความอิ่มเอิบใจ   หากไม่เชื่อคำชี้แนะของครูในวันนั้น  ผมก็คงเป็นกุ๊ยประจำซอย หรือไม่ก็เข้าไปอยู่ในเรือนจำแล้วก็ได้  เพราะเพื่อนผมบางคนที่พัวพันกับยาเสพติดมาตั้งแต่สมัยเรียนก็วนเข้าวนออกอยู่แถวคุกเหมือนถูกเรียกขึ้นห้องปกครองครั้งกระโน้นไม่มีผิด

            “กระถางช้างกระของแม่เธอยังอยู่นะ ครูรักษาไว้อย่างดี มันยังแขวนอยู่ข้างห้องปกครอง เหมือนเดิม” ครูกรเอ่ยเรื่องนี้ขึ้นมาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยเหมือนทบทวนความหลัง

            หัวใจผมกระตุกเยือกเมื่อนึกถึงช้างกระที่แม่มอบให้ครูกร ก่อนบอกความจริงบางอย่างให้ครูรู้ว่าแม่ผมจากไปสักสองปีที่ผ่านมา  เป็นมะเร็งลำไส้  รักษาตัวกันจนสุดความสามารถแล้ว  แต่ไม่อาจยื้อชีวิตเอาไว้ได้ “ขอโทษด้วยครับครู ผมไม่ได้มาบอกเรื่องนี้ให้ทราบตอนแม่เสีย”

            หากแม่อยู่ตอนนี้ แม่คงยิ้มด้วยความดีใจ   

—————————————————————————————————————————————————

เนชั่นสุดสัปดาห์: มีนาคม  2553

ก้าวอย่างผู้ชนะ

ชื่อ :   ก้าวอย่างผู้ชนะ
รหัสหนังสือ :   isbn:978-616-7005-27-0
ชื่อผู้แต่ง :   เชาว์ศิลป์ จินดาละออง
ราคาปกติ :   99
ราคาสมาชิก :   85
เรื่องย่อ
หนทางแห่งการก้าวไปสู่ความสำเร็จต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ นานา โดยวางเป้าหมาย วางแผนการ และลงมือปฏิบัติตามแผนอย่างจริงจัง ต้องปรับปรุง พัฒนาตัวเองให้พร้อมที่จะก้าวเดินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง คำว่า “ผิดหวัง ท้อแท้ ถอยหนี” จะต้องเก็บกวาดให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ แล้วสวมใส่คำว่า “สู้” เข้ามาแทน
หนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือนคู่มือชีวิตที่บอกให้คุณเผชิญกับอุปสรรคขวากหนามด้วยจิตวิญญาณอันแข็งแกร่ง มีตัวอย่างบุคคลต่างๆ มากมายที่เป็นต้นแบบให้คุณศึกษาเรียนรู้ หากนำแนวทางจากหนังสือเล่มนี้ไปปฏิบัติอย่างมีขั้นตอน มั่นใจได้ว่าคุณคือบุคคลหนึ่งที่จะก้าวอย่างผู้ชนะ
Posted by: chaosinbooks | 26/07/2010

แผ่นดินแม่

(บทกวี)                                 แผ่นดินแม่

———————————————————————————

วันที่ทะเลไร้เสียงคลื่น…            มาเหยียบยืนแผ่นดินถิ่นเกิดเก่า

ใต้ลำพูระเริงลมแผ่ร่มเงา             กวัดใบส่ายเหงาเศร้าซับแผลใจ

แผ่นดินแม่ในรอยจำหวนรำลึก       ให้ย้อนย้ำสำนึกความยิ่งใหญ่

ยามพลาดหวังพลั้งก้าวลงคราวใด     แม่อภัยพร้อมรับประคับประคอง

นับแต่วันวัยเยาว์อยู่เหย้าเรือน         แม่ก็เหมือนแม่นกคอยปกป้อง

แม่ล่องเรือค้าขายตามชายคลอง        มิบกพร่องอยู่พอเพียงเลี้ยงครอบครัว

ชีวิตเป็นเช่นนั้นมานานแล้ว            รักยังแวววาวใสไม่สลัว

จิตใจแม่ผุดผ่องไม่หมองมัว            สิ่งใดชั่วเว้นกระทำแม่ย้ำชัด

หลายปีจากไอดินกลิ่นสายน้ำ           จากดงลำพูใหญ่ไหวแกว่งกวัด

จากทะเลเร่ร้างห่างคลื่นซัด             มาฟอนฟัดชีวิตครูอยู่ชายแดน

ด้วยรักและด้วยใจที่ใฝ่ฝัน              จึงด้นดั้นสู่อีสานกันดารแสน

หวังสรรค์สร้างเด็กไทยไม่บิดแบน    “คน”คือแก่นสำคัญของแผ่นดิน

เริ่มต้นที่การศึกษาสร้างค่าคน          แต่รัฐยังสับสนมิสุดสิ้น

นักการเมืองฝันเฟื่องจะโกงกิน         ข้าราชการกังฉินรุมกินรัฐ

จึงอำลาอีสานกลับบ้านเกิด             อุดมการณ์พราวเพริศมาติดขัด

บนความคิดขัดแย้งแห่งโลกทรรศน์   เป็นนกพลัดไพรพงบินหลงฟ้า                                                    

วันที่ทะเลไร้เสียงคลื่น…              ฉันมายืนหมองหม่นเหมือนคนบ้า

หลับตาลงปลงใจให้เหว่ว้า              แผ่นดินใต้ก็ใช่ว่าจะร่มเย็น

ยินแต่เสียงระเบิดเสียงปืนดัง           มีแต่รอยเลือดหลั่งอยู่เห็นเห็น

กลายเป็นศพร่วงรายไม่วายเว้น      ความทุกข์เข็ญโหมทวีทุกวี่วัน                               

                                                                เชาว์ศิลป์  จินดาละออง

            ———————————————————————————                              

                   เนชั่นสุดสัปดาห์ : มีนาคม 2553 

                                     

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม    เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

เป็นพระราชดำรัสอันมีคุณค่ายิ่ง  ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระราชสัตยาธิษฐานในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก   ประชาชนชาวไทยต่างประจักษ์กันดีแล้วว่าพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการปกครองราชอาณาจักรโดยทศพิธราชธรรมอย่างมั่นคงเสมอมา  พระองค์ทรงห่วงใยและทรงรับผิดชอบต่อชะตากรรมของชาติบ้านเมืองเป็นสำคัญ โดยยึดหลักการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  หลังจากได้มีการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน  พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมา

เดิมทีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์  ซึ่งทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจสิทธิ์ขาดทั้งในทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร และทางตุลาการ  พอมาถึงสมัยที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย  พระมหากษัตริย์มิได้ใช้พระราชอำนาจอย่างสิทธิ์ขาดเพียงลำพังพระองค์  แต่ได้มีการจำกัดพระราชอำนาจไว้ภายใต้รัฐธรรมนูญ  การใช้อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ มีองค์กรที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจแตกต่างกัน  โดยแบ่งแยกออกเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ  ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการตามหลักการแยกใช้อำนาจอธิปไตย

การเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้น  มิใช่จะเปลี่ยนโครงสร้างและสถาบันการเมืองใหม่แต่เพียงอย่างเดียว  แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงความคิดใหม่ของผู้คนในสังคมที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนทุกระดับชั้นนับตั้งแต่พระมหากษัตริย์  ราชวงศ์  เสนาบดี ข้าราชการ ไปจนกระทั่งถึงสามัญชนธรรมดา  เพราะทุกคนต่างก็ได้รับโอกาส ในสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน  แต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งสำคัญนี้ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่นปราศจากขวากหนามแต่อย่างใด  ถ้าดูจากประวัติศาสตร์แล้ว   ตลอดเส้นทางของการเมืองไทย เราต้องเผชิญกับภาวะล้มลุกคลุกคลานของประชาธิปไตยหลายหนหลายครั้ง  โดยเฉพาะการปฏิวัติรัฐประหาร  ใช้อำนาจเผด็จการมาปกครองประเทศ  แต่ละครั้งที่ประชาธิปไตยทรุดล้มลงไป เราก็ต้องใช้เวลาอันยาวนานในการสานต่อ

ตลอดระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๙ จนถึงปัจจุบัน  พระองค์ได้ทรงเล็งเห็นคุณค่าของระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นอย่างดียิ่ง  ทรงพยายามประสานบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยที่มีมาแต่ดั้งเดิมไม่ว่าด้วยคติความเชื่อ  วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าๆของไทยเราให้เข้ากับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างกลมกลืน  ยามใดที่ประเทศมีรอยร้าวทางการเมืองการปกครอง  พระองค์จะอยู่ระหว่างกลางและคอยเยียวยาบาดแผลประชาธิปไตยให้หายสนิทแทบทุกครั้ง  ทั้งนี้เป็นเพราะพระปรีชาญาณอันหลักแหลมและเที่ยงธรรมของพระเจ้าอยู่หัวนั่นเองที่ทำให้การแก้ปัญหาวิกฤตต่าง ๆของบ้านเมืองลุล่วงมาด้วยดี

พระราชดำรัสข้างต้นที่ว่า “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม  เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” เป็นหลักคิดที่สอดคล้องกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง  เพราะพระองค์ได้ปฏิบัติตนตามหลักทศพิธราชธรรมอย่างคงมั่น  นั่นก็คือ ทาน การให้  ได้แก่ การพระราชทานทรัพย์ช่วยเหลือประชาชน  ศีล ได้แก่ การประพฤติดีงาม การสำรวม การควบคุมพระอาการทางกาย ทางวาจาให้เรียบร้อย ละเว้นความชั่วทั้งหลายทั้งปวง  ปริจจาคะ การเสียสละได้แก่ การเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน  อาชชวะ ความซื่อตรง ได้แก่ ความมีพระอัธยาศัยซื่อตรง  ดำรงในสัตย์สุจริต  มัททวะ ความอ่อนโยน ได้แก่ ความที่มีพระอัธยาศัยอ่อนโยนไม่เย่อหยิ่ง  ตบะ ความเพียร ได้แก่ ความมุ่งมั่นบำเพ็ญเพียรทำกิจให้บริบูรณ์  อักโกธะ ความไม่โกรธ ได้แก่ การไม่ทรงพระพิโรธ  ไม่เกรี้ยวกราด ผิดทำนองคลองธรรม อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน  ได้แก่ การไม่ทรงเบียดเบียนหรือกดขี่ข่มเหงราษฏรให้ทุกข์ยากเดือดร้อนด้วยเหตุอันไม่ควรทำขันติ ความอดทน  ได้แก่ ความมีพระทัยมั่นคง  ทรงวิริยะอุตสาหะต่องานที่ตรากตรำโดยไม่ย่อท้อ อวิโรธนะ ความไม่ประพฤติผิดระเบียบ ได้แก่ การรักษาความยุติธรรมไม่ให้ผันแปรไปจากสิ่งที่เที่ยงตรงและระเบียบแบบแผนประเพณีที่ดีงาม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติตนอยู่ในทศพิธราชธรรม สมเป็นแบบอย่างให้พสกนิกรในชาติน้อมศรัทธาและยึดถือเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจโดยแท้จริง   ตัวพระองค์เองก็มีพระราชหฤทัยเที่ยงธรรมไม่เอนเอียงให้กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทั้งสิ้น   ความตอนหนึ่งเป็นทัศนะเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่มีต่อการเมือง  ซึ่งพระองค์ทรงพระราชทานสัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าววิทยุโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ความว่า

“เราพยายามวางตัวให้เป็นกลาง  และร่วมมือโดยสันติวิธีกับทุกฝ่าย  เพราะเชื่อว่าความเป็นกลางนี้จำเป็นสำหรับเรา  ประชาชนบางคนอาจสังกัดกลุ่มการเมือง  หรือมีผลประโยชน์ที่ต้องคอยพิทักษ์ป้องกัน  แต่คนอีกจำนวนมากไม่มีโอกาสเช่นนั้น  เขาไม่สามารถแสดงความประสงค์ของเขาให้ปรากฏชัดเจนได้  เราจึงต้องคำนึงถึงคนเหล่านี้ให้มาก”

นอกจากการวางตัวเป็นกลางแล้ว  พระองค์ยังสร้างความชอบธรรมและความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในหมู่พสกนิกรอย่างเท่าเทียมกัน  ไม่เคยคิดวางพระองค์เขื่องในความเป็นพระเจ้าแผ่นดินจนไม่เหลียวมองดูความทุกข์ยากของราษฎร์แต่อย่างใด   และการเป็นพระมหากษัตริย์ของพระองค์ไม่เหมือนกับหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ที่เคยรู้จักกันมาแต่ก่อน  คือทำอะไรก็ตามที่เป็นประโยชน์สุขแก่ประชาชนทั่วไปโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก  และไม่คิดว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองในทางการปกครอง  แน่นอนพระองค์ทรงตระหนักดีว่า สิ่งไหนเป็นพระราชกรณียกิจที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติ  พระองค์ทรงยินดีปฏิบัติสิ่งนั้นโดยเปิดเผย  ไม่แสดงความลำเอียงเข้าข้างบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง   เพราะพระองค์ปรารถนาที่จะเห็นทุกคนมีเสรีภาพ  รู้จักเคารพสิทธิและเสรีภาพซึ่งกันและกัน  ทั้งยังเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของคนในชาติ  ตลอดจนสร้างความเสมอภาคในระหว่างราษฏรทุกหมู่เหล่า  เสมือนเป็นการปลุกจิตสำนึกให้ทุกคนอยู่ร่วมกันในวิถีทางแห่งประชาธิปไตย  ดังพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่  วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.  ๒๕๑๘ ความว่า

“…..อันแผ่นดินของเรานี้  ถึงจะเป็นที่เกิดที่อาศัยของคนหลายเชื้อชาติ หลายศาสนา แต่เราก็อยู่ร่วมกันโดยปกติราบรื่นมาได้เป็นเวลาช้านาน  เพราะเราต่างสมัครสมานกัน  อุตส่าห์ช่วยกันสร้างบ้านเมือง สร้างความเจริญ สร้างจิตใจ สร้างแบบแผนที่ดีขึ้นเป็นของเราเองซึ่งแม้นานาประเทศก็น่าจะนำไปเป็นแบบฉบับได้  เพราะฉะนั้น  ถ้าเราทั้งหลายมีสามัคคี มีเหตุผลอันหนักแน่น  และมีความรู้ความเข้าใจอันถูกต้องชัดเจนในสถานการณ์ที่เป็นจริง  ต่างคนต่างร่วมมือร่วมความคิดกันในอันที่จะช่วยกันผ่อนคลายปัญหาและสถานการณ์ที่หนักให้เป็นเบา ไม่นำเอาประโยชน์ส่วนน้อยเข้ามาเกี่ยวข้องให้เสียหายถึงประโยชน์ส่วนใหญ่ของชาติบ้านเมือง เชื่อว่าเราสามารถรักษาชาติ   ประเทศ  และความผาสุกสงบที่เราได้สร้างสมและรักษาสืบต่อกันมาช้านานไว้ได้…”

จะเห็นได้แจ้งชัดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์   การอยู่รวมกันของคนในชาติไม่ว่าจะเป็นคนนับถือศาสนาใดหรือเชื้อชาติใด  ทั้งพยายามประคับประคองให้ทุกคนรู้จักปรองดองกันแบบสมานสามัคคีกันเรื่อยมา  หากไม่ทำเช่นนั้นแล้วบ้านเมืองเราคงอยู่ไม่รอดมาจนถึงทุกวันนี้อย่างแน่นอน   นั่นเป็นการแสดงให้เห็นในส่วนลึกของน้ำพระทัยที่พระองค์ปรารถนาจะเห็นร่มเงาแห่งประชาธิปไตยแผ่ขยายออกไปสู่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน

ถ้าลองย้อนพินิจดู  ระบบการเมืองไทยตั้งแต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยเป็นต้นมา   นับว่ามีความผันผวนมาตลอด  มีการรัฐประหารช่วงชิงอำนาจ  เกิดเหตุการณ์ข้าวยากหมากแพงหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่๒  ค่าเงินบาทลดลงมาก  ค่าครองชีพก็สูงขึ้น  ตามติดมาด้วยปัญหาทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงได้แพร่ระบาดไปทั่ว  ซ้ำร้ายไปกว่านั้น  การสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๘ ยิ่งทำให้ขวัญและกำลังใจของประชาชนสูญเสียหนักขึ้นไปอีก   เรียกได้ว่าภาพรวมทางด้านเศรษฐกิจ  และสังคมของประเทศในยุคนั้นอยู่ในสภาพทรุดโทรมอย่างหนัก  จนเวลาลุล่วงมาถึงช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ได้ทรงเข้าพิธีบรมราชาภิเษก  เหตุการณ์วิกฤตต่างๆก็ค่อยๆคลี่คลายไปในทางที่ดี

สถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้นถือว่าไม่ราบรื่นเสียทีเดียว  ทั้งนี้เพราะประเทศกำลังอยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของการผลัดเปลี่ยนอำนาจจากบุคคลในวงการคณะราษฎรมาเป็นคณะทหาร  และคณะทหารก็มีการสับเปลี่ยนช่วงชิงอำนาจจากคณะหนึ่งไปสู่อีกคณะหนึ่งตลอดมา   ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์  คือ มีการปิดสภาผู้แทน   รัฐประหารเงียบโดยหัวหน้ารัฐบาลเอง   จากนั้นก็มีคณะทหารที่นำโดยนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้า  ยึดอำนาจบีบบังคับให้นายกรัฐมนตรีลาออก  และสภาก็ได้แต่งตั้งพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี   ต่อมาก็เกิด “กบฎบวรเดช”  และในช่วงถัดมาก็มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน  ราษฏรเป็นครั้งแรกในเมืองไทยโดยเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม  จนกระทั่งมาถึงสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๗ ทรงสละราชสมบัติ อันเนื่องมาจากการเสด็จไปรักษาพระองค์ที่ประเทศอังกฤษ  ประกอบกับทรงมีความขัดแย้งกับรัฐบาลจนไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองช่วงนั้นแม้จะผันผวนดังกล่าวแล้ว แต่มองโดยภาพรวมจาก  ช่วงต้นของการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯเป็นต้นมาก็ถือว่าเป็นการฟื้นตัว  สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ มีการขัดแย้งและช่วงชิงอำนาจกันอีกหลายครั้งหลายหน  แต่ก็ดำเนินไปตามแนวทางแห่งประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ที่มีการปรับปรุงแก้ไขกันเรื่อยมา  ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีการออกกฎหมายตั้งพรรคการเมืองเป็นครั้งแรกขึ้นในประเทศไทย  เพื่อส่งเสริมระบบพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยให้ยั่งยืนถาวร  พรรคที่สำคัญในช่วงนั้น ได้แก่ พรรคเสรีมนังคศิลา  มีจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นหัวหน้าพรรค และพรรคประชาธิปปัตย์ มี นายควง อภัยวงศ์เป็นหัวหน้าพรรค  ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดถึง ๑๕ ปีกว่า  โดยแบ่งออกเป็น ๒ ช่วง  คือช่วงแรก ๒๔๘๑- ๒๔๘๗  และช่วงหลัง ๒๔๙๑- ๒๕๐๐    แต่ประชาธิปไตยไทยต้องดับแสงลงอีกครั้งเมื่อจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ทำการปฏิวัติรัฐประหาร  ขึ้นปกครองประเทศโดยไม่มีรัฐธรรมนูญ ในช่วงปี ๒๕๐๐- ๒๕๐๘

ถึงแม้การเมืองภายในประเทศดำเนินไปแบบล้มลุกคลุกคลานก็ตาม  แต่พระองค์ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญปกครองราชอาณาจักรไทยให้พัฒนาไปตามรูปแบบของประชาธิปไตยอย่างสุขุมคัมภีรภาพ  โดยคำนึงถึงสถานการณ์ภายในประเทศและความมั่นคงของชาติเป็นสำคัญ  อาจกล่าวได้เต็มปากว่าอำนาจประชาธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยโดยแท้จริง  ก็เพราะว่าพระองค์มีส่วนสรรค์สร้างและส่งเสริมให้ระบอบประชาธิปไตยดำเนินไปในวิถีทางที่เหมาะสมที่สุด  ซึ่งส่งผลให้เกิดความสงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง  แต่ช่วงหลังจากนั้นประเทศชาติเริ่มมีการพัฒนาอย่างมีระบบมากขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมือง  ตลอดจนโครงการต่างๆตามพระราชดำริเพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนก็เริ่มปรากฏเห็นชัดยิ่งขึ้น  แม้กระทั่งหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง”ที่พระองค์ทรงพระราชดำริมาแต่ต้นเพื่อให้คนไทยรู้จักใช้ชีวิตแบบอดออมพออยู่พอกิน ไม่ตกอยู่ในกระแสบริโภคนิยมจนละเลยคุณธรรมอันดีงาม  จะเห็นว่าพระองค์มีความห่วงใยในทุกข์สุขของราษฎรในทุกๆด้าน  และพยายามยืนอยู่ตรงกลางคอยเชื่อมร้อยดวงใจของคนในชาติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสมอมา

สิ่งที่ยืนยันได้แจ่มชัดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการช่วยประคับประคองประชาธิปไตยในบ้านเมืองของเราให้เกิดความร่มเย็นมาอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งดูจากเหตุการณ์ไม่สงบที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองถึง ๓ ครั้ง อันเกี่ยวเนื่องกับวิถีทางแห่งประชาธิปไตยทั้งสิ้น  แต่ละครั้งสร้างความกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของประเทศ และความสงบสุขของประชาชนจนเกิดความระส่ำระสายไปทั่ว

เหตุการณ์ครั้งที่๑ คือ เหตุการณ์ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ หรือวันมหาวิปโยคของประวัติศาตร์ชาติไทย  ซึ่งมีเหตุมาจากการที่นิสิต นักศึกษา และประชาชนเรียกร้องรัฐธรรมนูญ  จนเกิดการปะทะกันขึ้นอย่างรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ตำรวจ  จนถึงขั้นบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก  เหตุการณ์ครั้งนั้นเหมือนกองไฟที่กำลังลุกไหม้แผ่นดิน  แต่ถูกดับลงด้วยดีก็เพราะพระบุญญาธิการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั่นเอง  ที่รับสั่งให้ผู้นำประเทศเข้าเฝ้า  ทรงระงับเหตุร้าย  มีพระราชดำรัสแก่ประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ   สถานการณ์จึงสงบลงได้  มิฉะนั้นแล้วเหตุการณ์อาจจะลุกลามใหญ่โต  เพราะการต่อสู้ได้ขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว  ผู้เรียกร้องได้ทำลายสถานที่ราชการและทรัพย์สินต่าง ๆ ทั้งของรัฐบาลและเอกชนเป็นจำนวนมาก  จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรียินยอมลาออกจากตำแหน่งและเดินทางออกนอกประเทศในเวลาต่อมา  และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้นายสัญญา  ธรรมศักดิ์  อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และองคมนตรี  ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน  บรรยากาศแห่งประชาธิปไตยก็เบ่งบานขึ้นมาอีกครั้ง  หลังมืดมนมาเป็นเวลาหลายปี

เหตุการณ์ครั้งที่ ๒ เกิดขึ้นเมื่อ ๖  ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙      มีการยึดอำนาจจากรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมช  โดยมีพลเรือเอกสงัด  ชะลออยู่  ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นหัวหน้า  ก่อนจะมีการยึดอำนาจการปกครอง       เพราะช่วงนั้นเป็นเหตุการณ์สำคัญคือ จอมพลถนอม กิตติขจร เดินทางกลับประเทศ  ทำให้เกิดกระแสต่อต้าน  จนในที่สุดก็เกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมขึ้นอีกครั้งหนึ่ง  ในขณะที่นิสิตนักศึกษาชุมนุมกันอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โดยบุคคลในเครื่องแบบและลูกเสือชาวบ้านได้ล้อมฆ่านิสิตนักศึกษาเหล่านั้นด้วยความโหดร้ายป่าเถื่อน  จนนำมาสู่การปฏิวัติดังกล่าว  และทำให้เกิดความแตกร้าวทางความคิดทางประชาธิปไตยของคนในชาติครั้งยิ่งใหญ่  โดยรัฐบาลใช้อำนาจปราบปรามนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่มีความเห็นตรงกันข้ามจนต้องหนีเข้าป่าไปร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นจำนวนมาก  นับได้ว่าเป็นยุคมืดแห่งประชาธิปไตยของบ้านเมืองอีกช่วงหนึ่ง  ทำให้ผู้คนเกิดความแตกแยกทางความคิด  แบ่งเป็นฝ่ายขวา  ฝ่ายซ้ายอย่างชัดเจน  แต่ช่วงที่พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์  ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้ฝ่าฟันเพื่อประชาธิปไตยของบ้านเมืองตลอดมา เพราะต้องประสบกับการกบฎถึง ๒ ครั้ง  และหลังจากเหตุกาณ์ต่าง ๆ ได้คลี่คลายลง  ทางรัฐบาลเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาและประชาชนที่เข้าป่าออกมามอบตัวโดยไม่มีความผิด

เหตุการณ์ครั้งที่ ๓ เกิดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๗ – ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๕  ได้มีการปะทะต่อสู้กันอย่างรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารกับราษฎรผู้มาชุมนุม  จนกลายเป็นเหตุการณ์นองเลือดมีผู้ได้รับบาดเจ็บ   และล้มตายเป็นจำนวนมากในสมัยที่   พลเอก สุจินดา  คราประยูรเป็นนายกรัฐมนตรี  สถานที่ราชการหลายแห่งถูกทำลายเสียหาย และมีทีท่าว่าจะลุกลามใหญ่โตเช่นเดียวกัน  ในที่สุดก็ต้องพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นเอกองค์แห่งศรัทธาของมหาชนทั้งประเทศได้เข้ามาช่วยขจัดปัดเป่าปัญหาวิกฤตดังกล่าวให้ลุล่วงไปด้วยความเป็นธรรม  คือโปรดกล้าฯให้บุคคลสำคัญทั้งสองฝ่ายเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานกระแสเพื่อไกล่เกลี่ยให้เกิดความปรองดองกัน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

จนกระทั่งมาถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ก็ได้มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งได้กลายมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๐  จะเห็นว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา  รัฐธรรมนูญฉบับต่างๆที่อยู่ภายใต้ร่มบารมีของพระองค์เปรียบเสมือนเป็นการสร้างสะพานแห่งประชาธิปไตยนำปวงชนไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุข  ยืนหยัดอยู่บนรากฐานแห่งสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งเป็นแก่นแท้ของประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  พระองค์เปรียบประดุจเป็นร่มโพธิ์ทองของประชาราษฎร์  ที่แผ่ร่มเงาแห่งความเสมอภาคแก่ประชาชนอย่างถ้วนหน้า

ความสง่างามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นก็คือการใช้พระราชอำนาจอย่างสมดุล  ไม่ก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนถึงประชาชน  พระองค์ทรงใช้อำนาจผ่านรัฐสภาภายใต้รัฐธรรมนูญ   และยังเป็นมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นสัญลักษณ์ของชาติ  ทรงวางพระองค์อยู่เหนือการเมืองการปกครอง  ทรงเชื่อมความสามัคคีระหว่างรัฐกับประชาชน  เป็นศักดิ์เป็นศรีแก่ประเทศ  และสร้างความศรัทธาให้กับประชาชนโดยไม่มีความแปดเปื้อนจากการลำเอียง  พระองค์คอยประคับประคองให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยดำเนินไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม และคอยปกปักษ์รักษาประโยชน์สุขของประชาชนอย่างทั่วถึง   เหมือนดังทัศนะเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของศาสตราจารย์ ธานินทร์  กรัยวิเชียร ที่ว่า

“สถาบันพระมหากษัตริย์ เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการกำเนิดชาติไทย  และยังยืนยงคงอยู่ได้โดยตลอด เป็นสถาบันที่พาชาติไทยฟันฝ่าอุปสรรค  และวิกฤตการณ์นานัปการผ่านพ้นมาได้ ให้ความรุ่งเรืองแก่มหาชนตลอดเวลาอันยาวนาน  พระมหากษัตริย์ได้ทรงทำหน้าที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ ทรงเป็นสายสัมพันธ์เชื่อมวิญญาณไทยในอดีต  ผ่านปัจจุบันสู่อนาคต  จากบรรพบุรุษสู่ผู้สืบสันดาน  ตราบใดที่ผู้สืบเชื้อสายไทยยังไม่สิ้นไปจากโลก  ตราบนั้นพระมหากษัตริย์ก็ไม่มีวันเสื่อมสูญไปเช่นกัน”

มาถึงวันนี้ ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในช่วงที่พระองค์เป็นประมุข  ผู้คนทั่วไปต่างยอมรับร่วมกันแล้วว่า  สิ่งต่าง ๆ ที่ได้กำหนดขึ้นมาในรัฐธรรมนูญนั้นก็เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างทั่วหน้ากัน  อย่างน้อยที่สุดก็ได้อ้างสิทธิดังกล่าวจากผู้มีอำนาจปกครอง  ขณะเดียวกันทางฝ่ายผู้มีอำนาจปกครองเองก็จะอิงรัฐธรรมนูญ เพื่ออ้างความชอบธรรมในอำนาจปกครอง เพื่อให้ตนและหมู่คณะจะได้อยู่ในตำแหน่งแห่งอำนาจต่อไป  จะเห็นว่า  บางช่วงบางตอนที่มีคณะทหารเข้าทำการรัฐประหารยึดอำนาจ  ก็ต้องประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนั้นโดยพลัน  จากนั้นก็จะรีบประกาศใช้หรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาในระยะเวลาที่กำหนด  แทบจะกล่าวอ้างได้ว่ารัฐธรรมนูญกับพระมหากษัตริย์จะต้องเดินคู่กันไปในระบบการเมืองการปกครองของไทยเลยก็ว่าได้

เมล็ดพันธุ์แห่งประชาธิปไตยได้หว่านลงบนผืนแผ่นดินไทยมานับตั้งแต่ วันที่ 24 มิถุนายน  2475  จนลุล่วงมาถึงช่วงสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯเสด็จขึ้นครองราชย์  ประชาธิปไตยก็ยังคงเจริญงอกงามเรื่อยมา  โดยเนื้อแท้แห่งประชาธิปไตยนั้นยังคงวับวาวและทรงคุณค่าอยู่เหมือนเดิม  มันได้ถูกถ่ายทอดสืบเนื่องกันมาในวงการเมืองการปกครองของไทย  แม้บางคราวจะดูอับเฉาแห้งเหี่ยวไปบ้าง  เพราะบางช่วงบางตอนได้มีระบบเผด็จการเข้ามาแทรกซ้อน  บางครั้งก็ได้มีการดัดแปลงบางสิ่งบางอย่างในจุดที่บกพร่องของเนื้อหาสาระหรือมีความขัดแย้งในเชิงปฏิบัติของตัวรัฐธรรมนูญเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่ใช้กันมาเกือบสิบปี  ก็ถูกฉีกทิ้งอีกครั้งหนึ่งเมื่อคณะปฏิวัติรัฐประหารเข้ายึดอำนาจจากพันตำรวจเอกทักษิณ  ชินวัตร เมื่อวันที่ ๑๙  กันยายน  ๒๕๔๙   นำโดยพลเอกสนธิ         บุญยรัตกลิน  และโปรดเกล้าให้พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี  ประเทศไทยจึงตกอยู่ภายใต้ประชาธิปไตยแบบจำยอม  แม้จะเป็นช่วงที่ประชาธิปไตยครบรอบ ๗๕ ปีพอดี  แต่ก็แปลกที่ว่าการปฏิวัติครั้งนี้ไม่มีการเสียเลือดเนื้อแม้แต่หยดเดียว   ทั้ง ๆ ที่ประชาชนเกิดมีความคิดแตกแยกแบ่งเป็นเป็นฝักเป็นฝ่าย  มีการเผชิญหน้ากันแต่ไม่เกืดปะทะกัน  ก็ด้วยพระบุญญาบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั่นเอง  ที่พสกนิกรยังให้ความสำคัญและจงรักภักดีอย่างเหนียวแน่น  และไม่อยากทำลายความดีงามที่พระองค์เพียรปฏิบัติมาด้วยความเหนื่อยยากเพื่อชาติเพื่อแผ่นดินของพระองค์  ความรู้สึกที่เกิดความร้าวฉานต่อกันของผู้คนในบ้านเมืองก็คงจะเดินไปสู่หนทางแห่งความสมานฉันท์กันในที่สุด หลังจากมีการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ  และมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในระบอบประชาธิปไตย

ความเบ่งบานแห่งประชาธิปไตยในประเทศไทยในยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ดูเหมือนจะทัดเทียมกับระบบประชาธิปไตยในอารยประเทศทั่วไป  เพราะนอกจากเราจะมีรัฐธรรมนูญที่มีประชนมีส่วนร่วมในการร่างมากที่สุดแล้ว เรายังมีระบบรัฐสภาที่แข็งแกร่งมากว่าสามทศวรรษที่เมืองไทยมีระบบสองสภา คือมีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อถ่วงดุลอำนาจระหว่างกัน

จริงอยู่แม้บ้านเมืองจะมีระบบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญก็ตามที  แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่อีกมาก  โดยเฉพาะปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียง  การใช้อิทธิพลต่างๆนานาเพื่อเป็นการแหวกทางเข้าไปผู้แทนบริหารบ้านเมือง  จำเป็นอยู่เองที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศโดยแท้จริงจะต้องตื่นตัวในเรื่อง “สิทธิและเสรีภาพ”ให้มากที่สุด  เพราะสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิพื้นฐานแห่งมนุษยชนที่ทุกคนมีเท่าเทียมกัน    การที่ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากเท่าไร  ก็เท่ากับเป็นการพัฒนาบ้านเมืองให้ผู้คนได้ตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์มากขึ้นเท่านั้น   แต่ในขณะเดียวกันพระองค์ยังให้สติกับประชาชนที่ใช้สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งว่าจะต้องคัดกรองเอาคนดีเข้าไปบริหารบ้านเมือง ดังพระบรมราโชวาทที่ว่า “ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้หมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี  ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง  และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”

เป็นที่ทราบกันดีว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้อำนาจเท่าที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญอย่างเที่ยงธรรม  นั่นคือพระราชอำนาจในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่อยู่คู่แผ่นดินไทยมาช้านาน  พระราชอำนาจที่พระองค์มีนั้นพอจำแนกเป็นเรื่องสำคัญได้ ๓ ประการคือ  พระราชอำนาจทั่วไป  พระราชอำนาจในฐานะเป็นประมุข และพระราชอำนาจในฐานะที่ทรงเป็นที่มาแห่งเกียรติยศและความยุติธรรม

กรณีพระราชอำนาจทั่วไป ก็คือ พระราชอำนาจที่จะได้รับการกราบบังคมทูลและการปรึกษาหารือจากรัฐบาล  ทั้งนี้ก็เพราะพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและใช้พระราชอำนาจตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี  แม้พระองค์มิต้องทรงรับผิดในผลแห่งการกระทำนั้นก็ตาม  ส่วนพระราชอำนาจในฐานะพระประมุขนั้น เป็นที่ทราบดีกันอยู่แล้วที่พระองค์ทรงใช้อำนาจทั้งทางด้านนิติบัญญัติและด้านบริหารภายใต้กฎเกณฑ์แห่งรัฐธรรมนูญ เช่นทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีตามคำกราบบังคมทูลของนายกรัฐมนตรี  พระราชอำนาจที่สำคัญอีกอันหนึ่งก็คือพระราชอำนาจในฐานะที่ทรงเป็นที่มาแห่งเกียรติยศและความยุติธรรม  เช่น พระราชอำนาจที่จะสถาปนาและถอดถอนฐานันดรศักดิ์  พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ที่ต้องคำพิพากษาว่ากระทำผิดทางอาญาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้

สิ่งหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีความเป็นห่วงเป็นใยในปัญหาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของเราตลอดมา  นั่นก็คือทรงพระราชทานคำแนะนำ ให้สติ และติติงนักการเมือง ข้าราชการในโอกาสต่างๆที่เป็นพระราชอำนาจเชิงคุณธรรมของพระมหากษัตริย์ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นจริยธรรมของรัฐและประชาชน  ให้มองเห็นความเลวร้ายของการทุจริตคดโกงชาติบ้านเมือง  เท่ากับพระองค์พยายามสร้างกฏเกณฑ์และจริยธรรมของนักการเมืองที่เข้ามาหวังผลประโยชน์จนลืมอุดมการณ์ของตัวเอง  และก่อให้เกิดผลเสียหายต่อระบบประชาธิปไตย

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยแท้ที่ต้องการเห็นความสงบสุขในหมู่เหล่าพสกนิกรภายใต้ร่มเงาแห่งประชาธิปไตยตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ  พระองค์ทรงเป็นฉัตรชัย  ทั้งเป็นศูนย์รวมแห่งความรักความสามัคคี  ยามใดที่บ้านเมืองเกิดภัยพิบัติ  พระองค์ก็ทรงเข้าดับทุกข์ภัยดังกล่าวด้วยพระปรีชาญาณให้ผ่านพ้นไปด้วยดีแทบทุกครั้งดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น  และเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๒  พรรษา  ๕ ธันวาคม  ๒๕๕๒ ชาวไทยทุกคนพร้อมใจกันน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัย  ขออานุภาพแห่งบุญบารมี  พระศรีรัตนตรัย  พระสยามเทวาธิราช และเดชะอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากล  โปรดอภิบาล ดลบันดาลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  ทรงเจริญพระชนมายุยั่งยืนนาน  เป็นร่มโพธิ์ทองของปวงชน และเป็นรากแก้วแห่งประชาธิปไตยไทยสืบต่อไป

 

วิทยาจารย์ : เชาว์ศิลป์  จินดาละออง

 

 

Posted by: chaosinbooks | 13/11/2009

แผ่นดินทุรยุค

อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑


แผ่นดินระทมทุกข์                       ทุรยุคประลัยลาญ

ปวงราษฏร์สิร้าวราน                   ปฐพีจะเดือดแดง

ไฟใต้ก็ลุกโหม                             ปะทะโถมและร้อนแรง

เหตุการณ์มิเปลี่ยนแปลง          นิรสุขนิกรไทย

การเมืองสะบัดหนาว                  มิสกาวกระจ่างใส

ขัดแย้งระแวงภัย                        ปฏิปักษ์ระหว่างกัน

แบ่งสีและแบ่งฝ่าย                     ฤจะหมายสมานฉันท์

อย่าหวังสุขานันท์                      วิปริตธราดล

บัดนี้ไผททุกข์                            ทุรยุคขยายผล

โกงชาติสิโกงตน                      จะวิบัติตลอดกาล

จึ่งหวังประชาชื่น                      มนรื่นและสุขศานต์

สำนึกปณิธาน                           ปริวรรตประเทศไทย

 

เชาว์ศิลป์  จินดาละออง

สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์, ตุลาคม  2552

Posted by: chaosinbooks | 04/10/2009

บ้านน้อยริมสวนยาง


แสงแดดเหลืองเรืองระบายริมชายเขา      ควันสีเทาไหลลอยอย่างอ้อยอิ่ง

แนวต้นยางสงบใบไม่ไหวติง                      สงัดนิ่งเงียบงามในยามเย็น

แม่คงเตรียมข้าวปลาหุงอาหาร                   มีความสุขอยู่กับบ้านอย่างเห็นเห็น

พ่อก็อยู่อย่างง่ายง่ายไม่ลำเค็ญ                 ยึดประเด็นพอเพียงเลี้ยงครอบครัว

มีรายได้จากยางต่างหยาดเหงื่อ                  รดรินเรื่อเรือนกายเป็นสายทั่ว

เหนื่อยแสนเหนื่อยอย่างไรไม่หวั่นกลัว       พ่อกับแม่ตื่นตัว…ตื่นชีวิต

เพื่อลูกได้ร่ำเรียนได้เขียนอ่าน                    วาดโครงการวางเป้าหมายไว้ไพจิตร

ขีดเส้นทางให้เห็นเป็นเข็มทิศ                       ให้ลูกคิดลูกจำไว้ใส่ใจ

ยังจดจำคำพ่อสอนก่อนหน้านั้น                    เหมือนคำมั่นสัญญาค่ายิ่งใหญ่

แต่เส้นทางที่ทอดเท้านั้นยาวไกล               ลูกจะฝ่าข้ามไปอย่างไรกัน..?

พ่อย้ำบอก “แม้ภูเขาจะขวางหน้า               ก็จงอย่าถอดใจคิดไหวหวั่น

อุปสรรคมากแค่ไหนไม่สำคัญ                   ขอให้ใจมุ่งมั่นอย่าลดละ

คำว่าถอยต้องไม่มีในชีวิต                           อาจมีผิดพลาดบ้างบางจังหวะ

รู้ผ่อนหนักผ่อนเบาเข้าปะทะ                       ยึดธรรมะอยู่กับใจไม่หลงทาง

หลายครั้งที่เหนื่อยหน่ายอยากพ่ายแพ้   เพราะเห็นแต่อุปสรรคมาดักขวาง

ชัยชนะที่วาดหวังยังเลือนราง             เหมือนอยู่กลางพายุร้ายในสังคม

สังคมที่ยื้อแย่งและแข่งขัน                จึงหวาดหวั่นชีวิตจะติดหล่ม

ในท่ามกลางระบบทุนนิยม                ใครท้อแท้ก็จะจมถูกเหยียบยับ

เพราะที่นี่คือ…เมืองหลวง                  เหมือนอยู่กลางเหวห้วงอันกลอกกลับ

คุณธรรมหายหดถูกกดทับ                 เขาน้อมนับถือเงินเกินสิ่งใด

คนมือยาวสาวได้ก็สาวเอา                 คนโง่เขลาก็จมปลักถูกผลักไส

คนคดโกงกลับฟูเฟื่องเรืองวิไล          ความจริงใจไม่มีแม้แต่แววตา

จึงฝันถึงแดดเหลืองเรืองฉ่ำฉาย         ตะวันบ่ายอาบทิวเขาเห็นเงาป่า

กับบ้านน้อยริมสวนยางที่จากมา         โลกที่นั่นโสภากว่าในเมือง

————————-

เชาว์ศิลป์ จินดาละออง

ขวัญเรือน, ปักษ์แรก  ต.ค. 52

เช้าวันนั้นท้องฟ้าโปร่งใส  สายลมพัดเอื่อยรินมาจากท้องทะเล  นานแล้วที่ผมไม่ได้ลงมาเยี่ยมบ้านเกิด  เลยถือโอกาสปั่นจักรยานคันเก่าของพ่อออกไปพบปะญาติพี่น้องคนแก่คนเฒ่าที่รู้จักมักคุ้น  เลาะเลียบถนนริมหาดไปเรื่อยๆ กลางแสงแดดอุ่นที่สาดส่องผ่านดงมะพร้าวลงมารำไร  ผมหยุดอยู่ครู่หนึ่งเมื่อถึงสะพานข้ามคลอง  ซึ่งมีประตูระบายน้ำกั้นระหว่างน้ำเค็มกับน้ำจืดมาบรรจบกัน  สองฝั่งคลองดกหนาไปด้วยต้นจากและลำพูแผ่กิ่งก้านเขียวไสว  ผมขี่ห่างชายหาดออกไปไม่นานก็ถึงบ้านลุงผาด  ญาติสนิทที่ผมชอบไปเล่นเมื่อตอนเด็กๆ  รอบๆ บ้านมีฝรั่ง มะขาม มะยมให้เราปีนป่ายขึ้นไปเก็บกิน

“หายหน้าหายตาไปเสียนานเลยนะ  เมื่อไหร่จะย้ายกลับลงมาสอนบ้านเราบ้างล่ะ” ลุงผาดทักทาย  เมื่อผมเลี้ยวรถจักรยานเข้าไปจอดในรั้วบ้าน

“ทำเรื่องมาสองครั้งแล้ว  ชวดทุกที” ผมนั่งลงข้างๆ  เอามือลูบแขนของแกไปมาแบบสนิทชิดเชื้อ  “กลับเที่ยวนี้จำหมู่บ้านของตัวเองแทบไม่ได้  ไม่น่าเชื่อ  ลุงไม่คิดร่ำคิดรวยกับเขาบ้างหรือ”

ผมกระเซ้าเย้าแหย่  เพราะผ่านมามีบ้านก่ออิฐงามๆ โผล่ขึ้นมาแทนบ้านไม้โกโรโกโสริมทางหลายหลัง  ผิดกับบ้านผมและบ้านลุงผาดยังเก่าโทรมเหมือนเดิม

ถ้าย้อนอดีต  เดิมทีที่ดินบริเวณนี้เป็นทุ่งข้าวเขียวสะบัดใบเริงระบำกับสายลม ยามนั่งเรือหางยาวล่องไปตามลำคลองในฤดูน้ำหลาก  สัมผัสถึงกลิ่นหอมของใบข้าวโชยฉ่ำเข้าจมูก ผมจำได้ว่าตอนที่เจ้าหน้าที่กรมประมงเข้ามาทดลองเลี้ยงกุ้งกุลาดำในหมู่บ้านแห่งนี้จนได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ  ปีนั้นแหละเป็นเหตุให้ที่นาซึ่งอยู่เหนือชายหาดราคาพุ่งพรวดพราดขึ้นมายิ่งกว่าทองคำ  มันถูกขายให้นายทุนต่างถิ่นที่แห่กันมากว้านซื้อเพื่อเอาไปทำนากุ้งกันเป็นล่ำเป็นสัน  ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันโรงงานผลิตอาหารกุ้งกุลาดำก็เข้ามาตั้งไม่ห่างจากบ้านผมมากนัก

“กูไม่เอาด้วยหรอก  อยู่ดีไม่ว่าดี  เอาเงินไปหว่านให้กุ้งกินเล่น  เจ๊งมาหลายรายแล้ว” ลุงผาดดีดบุหรี่ใบจากที่อยู่ในมือหวือไปที่ลานดิน  แล้วร่ายยาวถึงความพินาศฉิบหายอันเกิดจากผลพวงของการทำนากุ้งให้ผมฟังเสียยกใหญ่  เจอปัญหาสารพัดอย่าง  บ้างเลี้ยงไม่ถูกวิธี  กุ้งเป็นโรค  โตไม่ได้ขนาด  แถมถูกกดราคา  บางคนขาดทุนหมดเนื้อหมดตัวต้องขายนากุ้งตัวเองให้นายทุนเจ้าของโรงงาน  ซึ่งมีระบบการเลี้ยงที่ดีกว่า  เพราะมีการจ้างนักวิชาการมาวิจัยและดูแลอย่างใกล้ชิด  ปล่อยให้คนเลี้ยงเดิมกลายเป็นลูกจ้างแลกค่าแรงไปวันๆ

ทุกวันความสุขสงบของคนในหมู่บ้านริมทะเลเริ่มเลือนหายไป  หลายครอบครัวยิ่งหดหู่หัวใจหมดเรี่ยวหมดแรงเมื่อเห็นรวงข้าวเมล็ดลีบลง  ใบเหี่ยวเฉาเหมือนตายนึ่ง  เพราะโดนพิษน้ำเค็มจากนากุ้งเล่นงาน  บางทีโคลนเลนที่เขาโกยขึ้นมาจากก้นบ่อหลังจับเสร็จ  มันมีสารเคมีตกค้างจากกากอาหารกุ้ง  ลามไหลเข้านาใคร  นาคนนั้นก็กลายเป็นดินเค็ม  ขนาดต้นตาลข้างคันนายังยืนตายแห้ง  แล้วต้นข้าวจะเหลืออะไร  เรื่องนี้เจ้าของนาในละแวกนั้นรวมกลุ่มกันเข้าร้องเรียนนายอำเภอ  หวังให้ช่วยแก้ไขปัญหา  แต่กลับถูกเมินเฉย

“ไม่มีใครลงมารับผิดชอบเลยหรือลุง” ผมถามเปรยๆ อยากรู้อะไรเพิ่มเติม

“นี่จะเข้าสองปีแล้ว  ไม่เห็นใครมาเหลียวแล  แถมส่งคนมากล่อมให้เราหยุดร้องเรียน  พ่อเอ็งนั่นแหละถูกหมายหัว  เพราะเป็นตัวตั้งตัวตี   พวกนั้นขู่ว่าสักวันจะได้กินลูกปืน”

ผมนึกแปลกใจ  ไม่เห็นพ่อปริปากให้รับรู้สักนิด  กลับจากบ้านลุงผาด ผมถึงได้สอบถามความจริงในเรื่องนี้  พ่ออึกอักบอกเสียงอ่อย  ไม่อยากให้ผมพลอยลำบากใจ  แม่แสดงอาการวิตกกังวลอย่างเห็นได้ชัด  แววตาของแม่เศร้าหม่นเหมือนคนอมทุกข์  ลำพังเรื่องความขัดสนจนยากในครอบครัวก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว  นี่กลับมีเรื่องเลวร้ายถมทับเข้ามาอีก

การลงมาเยี่ยมบ้านครั้งนั้นทำให้ผมกลุ้มอกกลุ้มใจไม่แพ้กัน  นึกสงสารพ่อกับแม่ที่ต้องมาเผชิญปัญหาแบบไม่คาดคิด  ผมกลับขึ้นไปทำงานที่นครพนมอีกปีเดียวก็ทำเรื่องย้ายลงมาสอนหนังสือที่โรงเรียนใกล้บ้านอีกครั้ง  ปีนั้นเหมือนโชคเข้าข้าง  การขอย้ายของผมผ่านฉลุย  ไม่ต้องออกแรงวิ่งเต้นให้เปลืองเงินเปลืองทองแต่อย่างใด

ผมยิ่งตระหนักชัดเมื่อตอนลงมาอยู่ปักษ์ใต้กับพ่อแม่  นอกจากนาข้าวจะได้รับความเสียหายจากนากุ้งแล้ว  มีอีกสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกผะอืดผะอมทุกครั้งที่สูดลมหายใจเข้าไป  กลิ่นเหม็นหื่นลอยมาปะทะจมูกในยามเช้า  ดูจากทิศทางลมแล้วก็รู้ว่ามันมาจากโรงงานที่อยู่ใกล้บ้านของผมนั่นเอง  พ่อบอกว่าช่วงใหม่ๆ ที่โรงงานผลิตอาหารกุ้งแห่งนี้มาตั้งยังไม่ค่อยมีผลกระทบเท่าไหร่  แต่พอสองสามปีให้หลังชักส่งกลิ่นแรงขึ้นเรื่อยๆ  มันเป็นกลิ่นปลาป่น  เหม็นเหมือนซากศพ  หายใจเข้าปอดแต่ละทีอึดอัดแน่นหน้าอก  เสียงเครื่องจักรเดินเครื่องทั้งวันทั้งคืน และปล่อยควันสีดำฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ

“บ้านเราอากาศน่าบริสุทธิ์กว่านี้   นี่ต้องมาสูดกลิ่นเหม็นๆ ตลอดเวลา  แล้วเรื่องที่พ่อเคยร้องเรียนไปวันก่อนล่ะ  ไม่คืบหน้าเลยหรือ?” ผมออกปากถาม

“นายอำเภอคงโดนเงินยัดปากเข้าไปแน่ๆ  เห็นเงียบกริบ  หากไม่ได้ผล  คราวนี้เห็นทีจะต้องร้องเรียนผู้ว่าฯ  หรือระดับสูงขึ้นไปอีก  ส่วนผู้ใหญ่บ้าน  กำนันไม่ต้องพูดถึง  มันเป็นพวกเดียวกับเสี่ยกิจเจ้าของโรงงาน  ผู้ใหญ่สงค์คนหนึ่งล่ะที่เป็นลูกน้องของเสี่ยกิจ  เป็นมือไม้ทุกอย่างเวลาโรงงานมีปัญหาเรื่องต่างๆ กับชาวบ้าน  เขาจะส่งผู้ใหญ่สงค์มาเพื่อเจรจาต่อรอง”

แล้ววันหนึ่งรถกระบะคันหนึ่งแล่นเอื่อยเข้ามาจอดตรงหน้าบ้าน  คนขับเปิดประตูแล้วเดินลงมาด้วยมาดมั่นอกมั่นใจ  เขาคือผู้ใหญ่สงค์ผู้มีอิทธิพลกว้างขวางในตำบลนั่นเอง

“มาเจอครูพอดี   อยากคุยธุระสักหน่อย” ผู้ใหญ่สงค์ทักเสียงห้าวๆ

“มีอะไรหรือครับ” ผมนึกฉงนใจ

ยังไม่ทันออกปากเชิญชวน  ผู้ใหญ่ถือโอกาสนั่งลงบนม้าหินใต้ร่มไม้หน้าบ้าน  แล้วร้องถามหาพ่อ  บังเอิญวันนั้นพ่อเข้าไปทำธุระที่อำเภอเพื่อสอบถามความคืบหน้าเรื่องที่ตัวเองร้องเรียน

จากนั้นผู้ใหญ่สงค์ก็แจ้งความจำนงเป็นตัวแทนจะมาติดต่อขอซื้อที่ดินของเราที่อยู่ติดกับโรงงาน  โดยให้เหตุผลว่าจะขยายกิจการแผนกส่งออกและรับซื้อกุ้งให้ครบวงจร

“การขยายธุรกิจสร้างความก้าวหน้าให้กับโรงงาน  ไม่มีใครเขาว่าหรอก  หากไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น” ผมบอกให้ผู้ใหญ่รับรู้

“ครูเข้าใจผิดไปแล้วล่ะ  การมีโรงงานมาตั้งที่นี่มันมีประโยชน์แค่ไหน  ครูน่าจะรู้  เมื่อก่อนแถวนี้เจริญซะเมื่อไหร่   ดูสิทุกวันนี้มีถนนลาดยาง  ธุรกิจหลายอย่างก็ตามมา  มีการจ้างแรงงาน  ดีเสียอีกคนในหมู่บ้านไม่ต้องไปหางานทำในเมือง” เขาสาธยายคุณงามความดีที่โรงงานมีส่วนมาสร้างความเจริญให้กับชุมชนแห่งนี้

“ชาวบ้านเขารับทุกข์  ต้องทนดมกลิ่นเหม็นกันจนประสาทเสีย  ทำไมไม่เคยคิดบ้างล่ะ?” ผมทักท้วง

“ครูไม่ต้องห่วง  ทางโรงงานเขาไม่ได้นิ่งนอนใจ  เตรียมรับมือกับปัญหาไว้แล้ว  เสี่ยกิจรับปากว่าจะจัดการเรื่องนี้ให้ดีที่สุด”

ผมมารู้จากพ่ออีกทีว่า  เสี่ยกิจคงวางแผนให้ผู้ใหญ่เอาเงินมาฟาดหัวเรา  หวังกลบเกลื่อนคำร้องเรียนซึ่งหนาหูขึ้นทุกวัน  อีกอย่างทางการคงจี้ให้ทางเจ้าของโรงงานขจัดปัญหาให้เร็วที่สุด  อีกสองวันถัดมา  ผมเห็นผู้ใหญ่สงค์มาที่บ้านผมอีกครั้ง  หวังเจรจาซื้อขายที่ดินกับพ่อ  แต่พ่อไม่เล่นด้วย  เลยต้องกลับออกไปด้วยความผิดหวังอีกรอบ

“ปลายเดือนนี้  พ่อได้ข่าวจากทางอำเภอมาว่ารัฐมนตรีจะเดินทางลงมารับทราบปัญหามลพิษของโรงงานอุตสาหรรมแถบชายฝั่งทะเลบ้านเรา  เห็นว่าคนอื่นที่เดือดร้อนก็ร้องเรียนเรื่องนี้ไปเหมือนกัน”

คงจริงอย่างที่พ่อพูด  เพราะทั้งนากุ้งและโรงงานส่งผลเสียหายให้คนที่อยู่อาศัยละแวกใกล้เคียงมานานเต็มที  มีนักวิจัยเข้ามาสำรวจข้อเท็จจริงตั้งไม่รู้กี่คนต่อกี่คน  แต่ไม่เห็นเอามาปฏิบัติหรือแก้ปัญหาให้เกิดผลแต่อย่างใด  มีอยู่วันหนึ่งหลังโรงเรียนเลิกผมขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านบ้านผู้ใหญ่สงค์  แกกวักมือเรียกให้หยุด  แล้วบอกผมให้เข้าไปนั่งคุยกันสองต่อสองในบ้าน  ตอนแรกผมนึกลังเล  จะมาไม้ไหนอีกก็ไม่รู้  แต่เพื่อความกระจ่าง  ผมจอดรถแล้วเดินตามเข้าไป  เป็นครั้งแรกที่ผมได้เหยียบย่างเข้าบ้านผู้ใหญ่ที่มีอิทธิพลน่าเกรงขาม  มันตั้งอยู่กลางดงมะพร้าว  ผมรู้มาว่าแกเองก็มีนากุ้งตั้งหลายสิบไร่  ชีวิตสุขสบายกับเงินรายได้ในตำแหน่งที่ปรึกษาของโรงงาน

“ไอ้เรื่องที่พูดกันวันก่อน  ถามหน่อยเถอะ  พ่อของครูมีปัญหาอะไรถึงไม่ยอมขายที่ตรงนั้น” ผู้ใหญ่เปิดฉากเจรจา  พลางร้องบอกลูกสาวให้เอาน้ำเย็นมารับแขก

“เรื่องนั้นต้องถามพ่อ  เพราะโฉนดที่ดินไม่ได้เป็นชื่อผม”

“ที่เรียกครูมานั่งคุยด้วยก็ต้องการบอกเงื่อนไขให้ครูกับลุงพรได้สบายใจ  รู้หรือเปล่าว่า  ที่ตรงนั้นประเมินจากจำนวนเนื้อที่ทั้งหมดแล้วรวมทั้งตัวบ้าน  ทางโรงงานเขาจะตีราคาให้หนึ่งล้าน  พอใจไหม?” ผู้ใหญ่สงค์เปลี่ยนสีหน้าเป็นรอยยิ้ม  เหมือนมองเห็นชัยชนะอยู่แค่เอื้อม

“หมายความว่าให้เราออกไปอยู่ที่อื่นอย่างงั้นหรือ”

“ใช่  ให้หยุดต่อต้านและหยุดร้องเรียนด้วย” ผู้ใหญ่ร่างยักษ์เอนหลังพิงพนักโซฟาไม้มะค่าเป็นเงาวาววับ  เขย่าขาตัวเองไปมา “รู้ไหมว่าโรงงานได้รับผลเสียหายแค่ไหน  หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเอาข่าวเรื่องโรงงานสร้างปัญหามลพิษให้กับชุมชนไปเขียนเสียเละเทะ  ขอร้องเถอะครูช่วยสักหน่อย  ไปบอกลุงพรให้คิดดูใหม่อีกที  ผมว่างานนี้พ่อครูมีแต่ได้กับได้  ตีราคาให้สูงขนาดนี้  ไม่เอาอีกก็โง่แล้ว”

ผมเล่าเรื่องทั้งหมดให้พ่อฟังเมื่อกลับมาถึงบ้าน  พ่อโมโหระบายอารมณ์ออกมาดังลั่น “คนอย่างกู ซื้อไม่ได้หรอกโว้ย  หนอยไอ้ผู้ใหญ่รับเศษเงินเขามา  ทำตัวเป็นทาสรับใช้เขาจนลืมตัวลืมตีน”

ผู้ใหญ่สงค์คิดผิด  เพราะคนอย่างพ่อไม่ใช่เห็นแก่เงินจนออกนอกหน้ารีบคว้าหมับเหมือนอย่างคนอื่น   ความจริงทางโรงงานได้ยื่นข้อเสนอผ่านผู้ใหญ่มาก่อนหน้านี้แล้วว่าจะรับลูกหลานของคนในครอบครัวที่ได้รับความเดือดร้อนเรื่องมลพิษต่างๆ อันเกิดจากโรงงานเข้าทำงาน  บางคนเห็นดีเห็นงามรับข้อเสนอที่ว่านั้นด้วยความพอใจ  แม้จะต้องดมกลิ่นเน่าต่อไปก็ตาม

“ใครจะยอมก็ยอมไป  แต่กูไม่ยอม” พ่อชี้แจงและอธิบายว่าท่อระบายกลิ่นเหม็นของโรงงานตั้งอยู่ใกล้บ้านตัวเองมากกว่าบ้านของใครๆ  จะเอาเงินนิดๆ หน่อยๆ มาแลกเป็นเรื่องที่ยอมกันไม่ได้  “เราเกิดและโตที่นี่มาตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตายาย  อยู่มาก่อนที่โรงงานแห่งนี้จะเข้ามาตั้งเสียอีก  ไม่รู้จะหนีไปอยู่ไหน”  พ่อหมายถึงว่าทางโรงงานต่างหากที่จะต้องช่วยแก้ปัญหาแบบถาวรให้กับชุมชน  ไม่ใช่เข้ามาหวังแต่กอบโกยเงินอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนอื่น

อีกไม่กี่วันต่อมา  ผู้ใหญ่สงค์ยังคงตามมายื่นข้อเสนออันใหม่ให้พ่อ  เพราะเห็นว่าครอบครัวเราเป็นครอบครัวเดียวเท่านั้นที่ยังแข็งข้อไม่ยอมรับเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น  แม้เงินจำนวนนั้นจะดูก้อนใหญ่ก็ตามที  แต่นั่นหมายความว่ามันรวมทั้งผืนนาและตัวบ้านเก่าที่ทรุดโทรมของเราเข้าไปด้วย   ก็ถือว่าไม่ได้มากมายอะไร  พูดง่ายๆ ว่าเขาต้องการแก้ปัญหาโดยการขอซื้อที่ของเรา  แล้วให้เราไปเผชิญชะตากรรมเอาเอง  เขาอาจจะคิดว่ามีเงินเสียอย่างซื้ออะไรก็ได้หมด

“เอาหยั่งงี้ก็แล้วกัน  เรามีทางเลือกให้อีกทาง  หากลุงพรไม่ยอมออกจากบ้านหลังนี้  ทางโรงงานเขาจะรับลุงเข้าเป็นพนักงานคนหนึ่ง  เป็นยามก็ได้  ให้กินเงินเดือนประจำทุกเดือน  แต่มีข้อแม้ว่าให้ยุติการร้องเรียนทั้งหมด”

ผู้ใหญ่สงค์ยิ้มละไม  การเจรจาต่อรองครั้งนี้น่าจะประสบผลสำเร็จแน่นอน  อะไรๆ ที่วางแผนเอาไว้คงจะเป็นไปด้วยความราบรื่น  แต่เขากลับผิดหวังอีกตามเคย  เมื่อพ่อปฏิเสธข้อเสนออันนั้นอยู่ดี  ท้ายที่สุดผู้ใหญ่ก็ต้องลุกเดินออกไปอย่างไม่สบอารมณ์

และแล้วถึงวันที่รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลงมาดูปัญหาและได้พบปะประชาชนที่ศาลากลางจังหวัด  เช้าวันนั้นผมรวมกลุ่มไปกับเขาด้วย  คอยเป็นกำลังใจให้พ่อและชาวบ้านอีกกลุ่มใหญ่ที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งจากกลิ่นเหม็นของโรงงานและนาข้าวที่ได้รับความเสียหาย  บ้างก็เอาป้ายเขียนข้อความต่อต้านต่างๆ นานา  หลังจากรัฐมนตรีชี้แจงและรับปากกับชาวบ้าน  ผมเห็นพ่อปรี่เข้าไปหาทันทีพร้อมกับยื่นซองหนังสือร้องเรียนที่เตรียมมา  พ่อพูดข้อคับข้องใจอะไรบางอย่างออกไป  รัฐมนตรีพยักหน้าเหมือนรับปากจะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

และปัญหาทุกอย่างน่าจะจบลงด้วยดี  หากทุกฝ่ายนำไปแก้ไขเยียวยา  แววตาของพ่อวาวใส  คล้ายเป็นแววแห่งความหวังครั้งใหม่….เนื้อหาในคำร้องเรียนคงสะดุดความรู้สึกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าบ้าง  เพราะหลายปีมาแล้วที่ชีวิตของผู้คนริมทะเลแห่งนี้มิได้รับการเหลียวแลแต่อย่างใด  ไม่เพียงแต่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรายรอบเท่านั้นที่ทรุดโทรม  เหล่าลูกจ้างคนงานในโรงงานเองต้องมาเจอภัยร้ายจากการตายผ่อนส่งโดยไม่รู้ตัว  บางคนเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินลมหายใจแบบเรื้อรัง  บางคนเข้ามาทำงานได้ไม่กี่ปีก็จบชีวิตลงด้วยโรคมะเร็ง  เพราะสูดเอาสารเคมีเข้าไปสะสมในร่างกายทุกวัน  ฆาตกรเงียบเหล่านี้เหมือนมัจจุราชที่นำความพลัดพรากมาสู่ญาติพี่น้องอย่างน่าสะพรึงกลัว  ลูกจ้างส่วนหนึ่งหวั่นวิตกถึงกับลาออกไปไม่อยากอยู่เผชิญกับความตาย

วันถัดมาหนังสือพิมพ์ช่วยกระพือข่าวเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง  แน่นอนมันส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ทางธุรกิจของโรงงานไม่น้อย  เย็นวันรุ่งขึ้นลุงผาดก็โผล่มาที่บ้าน  ดึงแขนพ่อเข้าไปในครัว  คุยกันเงียบๆ สองคน  ผมอ่านสีหน้าของคนทั้งสองไม่ออกว่าคุยเรื่องอะไรกัน  ลุงผาดกลับไปแล้ว  พ่อถึงเอ่ยให้ผมฟังด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า มีคนมาเตือนให้ระมัดระวังตัว

“ใครพ่อ?”

“แกน่าจะรู้ว่าเป็นใคร” พ่อบอกเสียงเครียดๆ ไม่พูดอะไรต่อ  แล้วเดินออกไปนั่งตรงม้านั่งริมระเบียงหน้าบ้าน

ผมวาดหวังว่าคงมีอะไรได้รับการปรับปรุงแก้ไขขึ้นบ้าง  แต่จนแล้วจนรอดเรื่องทั้งหมดก็เงียบหายเข้ากลีบเมฆ  ผมอยากรู้นักว่าระหว่างความรวยของพวกเถ้าแก่นายทุนกับชีวิตจนๆ ของชาวบ้านตาดำๆ อย่างเรา  รัฐบาลจะเลือกเอาข้างไหน

แทนจะกลัวคำขู่  พ่อกลับเดินหน้าไม่ฟังใคร  วันหนึ่งพ่อแต่งตัวเสียเรี่ยม  ขึ้นรถประจำทางเข้าไปในตัวจังหวัดตั้งแต่เช้า  กลับมาถึงบ้านเอาเกือบค่ำมืด  ผมรู้ความจริงว่าพ่อไปหาทนายวุฒิหลายชายซึ่งมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับผม  พี่วุฒิตั้งสำนักงานทนายความอยู่ในเมือง  หลังจากทราบความเดือดร้อน  เขาก็ตกปากรับคำจะช่วยเหลือพ่อในเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด  พ่อกลับมาหน้าบานเมื่อพี่วุฒิยินดีเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรณีโรงงานทำละเมิดด้วยความเต็มใจ

“ผมจะเปิดโปงเรื่องนี้ในศาลให้สังคมรับรู้กันว่าโรงงานสร้างความเสียหายให้แก่สิ่งแวดล้อมและสภาพชีวิตของคนที่นี่อย่างไรบ้าง”

พี่วุฒิประกาศก้องต่อหน้าทุกๆ คนที่มาให้รายละเอียดในวันมาสอบถามและรวบรวมข้อเท็จจริงไปประกอบในสำนวนคดี “คงไม่นาน  คดีนี้ก็จะขึ้นสู่ศาล  แล้วทุกคนจะได้รับความเป็นธรรมเหมือนอย่างคดีละเมิดอื่นๆ ลุงช่วยเตรียมพยานบุคคลไว้หลายๆ ปากก็แล้วกัน  ข้อเท็จจริงเรามีพร้อมแล้ว”

ในที่สุดคดีก็ขึ้นสู่ศาล  แน่นอนผมเป็นคนหนึ่งในจำนวนพยานปากสำคัญที่ต้องไปให้การในวันนัดไต่สวน  วันนั้นผมเห็นพี่วุฒิทำหน้าที่ได้สมศักดิ์ศรี  ผมกับพ่อรู้สึกอุ่นใจหากคดีความเรื่องนี้จบลงด้วยดี  แต่ใครจะคาดคิด  ช่วงที่ผมกับพ่อขอติดรถกระบะของพี่วุฒิออกมาจากศาลประจำจังหวัด  ขับมาได้สักระยะ  ก็มีรถมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งบิดขึ้นมาเทียบข้าง  คนซ้อนท้ายซึ่งใส่หมวกกันน็อกปิดหน้ามิดชิดสาดกระสุนใส่ทางด้านคนขับทะลุกระจกสามสี่นัด  รถเสียหลักปัดเป๋แล้วทิ่มหัวลงข้างทางเกือบอัดกับเสาไฟฟ้า   ผมเห็นพี่วุฒิฟุบคาพวงมาลัย  เหลียวไปทางพ่อเห็นเลือดสดๆ  รินอาบตรงหัวไหล่ขวา  พอได้สติผมรีบเปิดล็อกผลักประตูรถออกไปทันที  มอเตอร์ไซค์คันดังกล่าวห้อตะบึงหายวับไปอย่างไร้ร่องรอย  สักพักก็โกลาหลด้วยกลุ่มไทยมุงที่มาดูกันด้วยความแตกตื่น  เจ้าหน้าที่ตำรวจสองคนแหวกผู้คนเข้ามา  จากนั้นร่างของพี่วุฒิก็ถูกหามขึ้นรถกระบะใจบุญคันหนึ่งอาสานำไปส่งโรงพยาบาล   ผมประคองพ่อก้าวตามขึ้นไปด้วย  พ่อไม่ได้บาดเจ็บมากนัก  นอนรักษาตัวอยู่แค่สามวัน  แต่พี่วุฒอาการหนักและถึงฆาตตั้งแต่วันนั้นแล้ว  เพราะกระสุนเจาะเข้ากะโหลกเหนือกกหู  หมดหนทางที่หมอจะยื้อลมหายใจของเขาเอาไว้ได้

ผมรู้ตัวดีว่านับแต่วันนั้นความปลอดภัยในชีวิตไม่มีอีกแล้ว  เราอยู่กันอย่างหวาดผวา  นึกเสียวสันหลังวาบทุกครั้งยามขี่รถไปกลับโรงเรียน  นี่ถ้าพ่อยอมขายที่ให้โรงงานไปตั้งแต่ตอนแรกก็คงหมดเรื่องหมดราว  ผมอาจไม่ต้องเจอความยุ่งยากแบบนี้  และพ่อก็ไม่ต้องถูกทางโรงงานเอาคนมาเล่นงาน

ญาติพี่น้องหลายคนพากันเป็นห่วงเป็นใย  แม้แต่ผู้อำนวยการโรงเรียนที่ผมสอนยังมาบอกเตือนให้ระมัดระวังตัว  เพราะเหตุการณ์มันเลยเถิดมาถึงขั้นนี้ “ดูๆ ก็อันตรายอยู่นะครู  ผมไม่ได้เข้าข้างฝ่ายไหนหรอกนะ  เตือนด้วยความเป็นห่วงมากกว่า”  ผู้อำนวยการพูดถูก  เพราะว่าเสี่ยกิจก็บริจาคเงินให้กับโรงเรียนไว้ไม่น้อยเหมือนกัน  ซึ่งถ้าดูอีกมุมก็เหมือนสร้างภาพอวดความใจบุญสุนทานให้สังคมรับรู้เป็นหน้าฉาก  แต่หารู้ไม่ว่าลึกลงไปในจิตใจอันแท้จริงก็คือการแสวงหากำไรระยะยาวในธุรกิจของตัวเอง….นั่นยิ่งทำให้ผมมองเห็นเงาทมิฬของอีกฝ่ายสยายปีกโอบคลุมเข้ามารอบด้าน

แต่ไม่น่าเชื่อเลยสักนิดว่า  จู่ๆ  เช้าวันหนึ่งก็มีข่าวการตายของผู้ใหญ่สงค์ลือหึ่งไปทั้งตำบล  ผมเองก็ไม่คาดคิดว่าแกจะถูกมือปืนมาดักซุ่มยิงตายคาเพิงพัก  ขณะไปตรวจดูแลมิให้คนมาขโมยกุ้งในยามค่ำคืน

ทุกอย่างยังเป็นปมปริศนาในเบื้องหน้าเบื้องหลังของการตายครั้งนี้  แม้แต่ตำรวจก็ไม่อาจจับมือใครดมได้  แต่หลังวันเผาศพของผูใหญ่สงค์ผ่านพ้นไปเพียงไม่กี่วัน   ผมเพิ่งตาสว่างเมื่อได้ยินคนในหมู่บ้านพูดกันปากต่อปากอย่างหนาหูว่า  ผู้ใหญ่สงค์ไปบีบราคาค่าที่ดินและบ้านของเราให้ต่ำกว่าความเป็นจริงแบบครึ่งต่อครึ่ง   กะวางแผนแอบยักยอกไว้เอง   ซึ่งพ่อไม่รู้อะไรกับเขาด้วยหรอก   เสี่ยกิจคงจะระแคะระคายเรื่องนี้เข้าโดยบังเอิญหรืออย่างไรไม่ทราบ  เลยหาใครสักคนมาเล่นงานก็ได้   อีกอย่างจะได้ตัดตอนพยานไม่ให้ใครสาวถึงต้นตอว่าใครอยู่เบื้องหลังในฐานะผู้บงการฆ่าทนายวุฒิและพยายามฆ่าพ่อในคราวเดียวกัน

วันหนึ่ง  ผมลองหยั่งใจพ่อดูอีกครั้ง  เผื่อให้พ่อรามือลงบ้าง  หลังรอดตายมาได้อย่างหวุดหวิด

“เราจะเดินหน้ากันอย่างไรดีล่ะพ่อ  คดีฟ้องโรงงานก็เพิ่งจะเริ่ม  คดีใหม่ก็ตามมา”

พ่อทำเป็นหูทวนลมเหมือนไม่ได้ยินเสียงที่ผมพูด  หันหน้ามองไปทางโรงงานเจ้าปัญหา  ซึ่งมีกลิ่นเหม็นหื่นโชยมากัยสายลมในยามเช้า

“ตราบใดยังไม่ได้รับความเป็นธรรม  พ่อก็จะสู้มันต่อไป”

ผมรู้สึกมืดมนมองไม่เห็นทางออกเหมือนกันว่าความเป็นธรรมยังมีอยู่ในสังคมนี้หรือเปล่า เพราะดูแล้วศัตรูของพ่อไม่ผิดอะไรกับยักษ์ปักหลั่น  และมีเขี้ยวเล็บพร้อมจะขย้ำใครได้ทุกเวลา

หรือจะต้องเอาชีวิตเข้าแลกอีกคนถึงจะได้รับในสิ่งที่พ่อเพรียกหา…?

————————————————

เนชั่นสุดสัปดาห์ , 18 ก.ย. 52

Older Posts »

หมวดหมู่