Posted by: chaosinbooks | 13/11/2009

ประชาธิปไตยไทย : ใต้ร่มพระบารมีพระเจ้าอยู่หัว


“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม    เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

เป็นพระราชดำรัสอันมีคุณค่ายิ่ง  ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระราชสัตยาธิษฐานในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก   ประชาชนชาวไทยต่างประจักษ์กันดีแล้วว่าพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการปกครองราชอาณาจักรโดยทศพิธราชธรรมอย่างมั่นคงเสมอมา  พระองค์ทรงห่วงใยและทรงรับผิดชอบต่อชะตากรรมของชาติบ้านเมืองเป็นสำคัญ โดยยึดหลักการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  หลังจากได้มีการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน  พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมา

เดิมทีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์  ซึ่งทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจสิทธิ์ขาดทั้งในทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร และทางตุลาการ  พอมาถึงสมัยที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย  พระมหากษัตริย์มิได้ใช้พระราชอำนาจอย่างสิทธิ์ขาดเพียงลำพังพระองค์  แต่ได้มีการจำกัดพระราชอำนาจไว้ภายใต้รัฐธรรมนูญ  การใช้อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ มีองค์กรที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจแตกต่างกัน  โดยแบ่งแยกออกเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ  ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการตามหลักการแยกใช้อำนาจอธิปไตย

การเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้น  มิใช่จะเปลี่ยนโครงสร้างและสถาบันการเมืองใหม่แต่เพียงอย่างเดียว  แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงความคิดใหม่ของผู้คนในสังคมที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนทุกระดับชั้นนับตั้งแต่พระมหากษัตริย์  ราชวงศ์  เสนาบดี ข้าราชการ ไปจนกระทั่งถึงสามัญชนธรรมดา  เพราะทุกคนต่างก็ได้รับโอกาส ในสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน  แต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งสำคัญนี้ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่นปราศจากขวากหนามแต่อย่างใด  ถ้าดูจากประวัติศาสตร์แล้ว   ตลอดเส้นทางของการเมืองไทย เราต้องเผชิญกับภาวะล้มลุกคลุกคลานของประชาธิปไตยหลายหนหลายครั้ง  โดยเฉพาะการปฏิวัติรัฐประหาร  ใช้อำนาจเผด็จการมาปกครองประเทศ  แต่ละครั้งที่ประชาธิปไตยทรุดล้มลงไป เราก็ต้องใช้เวลาอันยาวนานในการสานต่อ

ตลอดระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๙ จนถึงปัจจุบัน  พระองค์ได้ทรงเล็งเห็นคุณค่าของระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นอย่างดียิ่ง  ทรงพยายามประสานบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยที่มีมาแต่ดั้งเดิมไม่ว่าด้วยคติความเชื่อ  วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าๆของไทยเราให้เข้ากับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างกลมกลืน  ยามใดที่ประเทศมีรอยร้าวทางการเมืองการปกครอง  พระองค์จะอยู่ระหว่างกลางและคอยเยียวยาบาดแผลประชาธิปไตยให้หายสนิทแทบทุกครั้ง  ทั้งนี้เป็นเพราะพระปรีชาญาณอันหลักแหลมและเที่ยงธรรมของพระเจ้าอยู่หัวนั่นเองที่ทำให้การแก้ปัญหาวิกฤตต่าง ๆของบ้านเมืองลุล่วงมาด้วยดี

พระราชดำรัสข้างต้นที่ว่า “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม  เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” เป็นหลักคิดที่สอดคล้องกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง  เพราะพระองค์ได้ปฏิบัติตนตามหลักทศพิธราชธรรมอย่างคงมั่น  นั่นก็คือ ทาน การให้  ได้แก่ การพระราชทานทรัพย์ช่วยเหลือประชาชน  ศีล ได้แก่ การประพฤติดีงาม การสำรวม การควบคุมพระอาการทางกาย ทางวาจาให้เรียบร้อย ละเว้นความชั่วทั้งหลายทั้งปวง  ปริจจาคะ การเสียสละได้แก่ การเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน  อาชชวะ ความซื่อตรง ได้แก่ ความมีพระอัธยาศัยซื่อตรง  ดำรงในสัตย์สุจริต  มัททวะ ความอ่อนโยน ได้แก่ ความที่มีพระอัธยาศัยอ่อนโยนไม่เย่อหยิ่ง  ตบะ ความเพียร ได้แก่ ความมุ่งมั่นบำเพ็ญเพียรทำกิจให้บริบูรณ์  อักโกธะ ความไม่โกรธ ได้แก่ การไม่ทรงพระพิโรธ  ไม่เกรี้ยวกราด ผิดทำนองคลองธรรม อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน  ได้แก่ การไม่ทรงเบียดเบียนหรือกดขี่ข่มเหงราษฏรให้ทุกข์ยากเดือดร้อนด้วยเหตุอันไม่ควรทำขันติ ความอดทน  ได้แก่ ความมีพระทัยมั่นคง  ทรงวิริยะอุตสาหะต่องานที่ตรากตรำโดยไม่ย่อท้อ อวิโรธนะ ความไม่ประพฤติผิดระเบียบ ได้แก่ การรักษาความยุติธรรมไม่ให้ผันแปรไปจากสิ่งที่เที่ยงตรงและระเบียบแบบแผนประเพณีที่ดีงาม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติตนอยู่ในทศพิธราชธรรม สมเป็นแบบอย่างให้พสกนิกรในชาติน้อมศรัทธาและยึดถือเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจโดยแท้จริง   ตัวพระองค์เองก็มีพระราชหฤทัยเที่ยงธรรมไม่เอนเอียงให้กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทั้งสิ้น   ความตอนหนึ่งเป็นทัศนะเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่มีต่อการเมือง  ซึ่งพระองค์ทรงพระราชทานสัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าววิทยุโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ความว่า

“เราพยายามวางตัวให้เป็นกลาง  และร่วมมือโดยสันติวิธีกับทุกฝ่าย  เพราะเชื่อว่าความเป็นกลางนี้จำเป็นสำหรับเรา  ประชาชนบางคนอาจสังกัดกลุ่มการเมือง  หรือมีผลประโยชน์ที่ต้องคอยพิทักษ์ป้องกัน  แต่คนอีกจำนวนมากไม่มีโอกาสเช่นนั้น  เขาไม่สามารถแสดงความประสงค์ของเขาให้ปรากฏชัดเจนได้  เราจึงต้องคำนึงถึงคนเหล่านี้ให้มาก”

นอกจากการวางตัวเป็นกลางแล้ว  พระองค์ยังสร้างความชอบธรรมและความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในหมู่พสกนิกรอย่างเท่าเทียมกัน  ไม่เคยคิดวางพระองค์เขื่องในความเป็นพระเจ้าแผ่นดินจนไม่เหลียวมองดูความทุกข์ยากของราษฎร์แต่อย่างใด   และการเป็นพระมหากษัตริย์ของพระองค์ไม่เหมือนกับหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ที่เคยรู้จักกันมาแต่ก่อน  คือทำอะไรก็ตามที่เป็นประโยชน์สุขแก่ประชาชนทั่วไปโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก  และไม่คิดว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองในทางการปกครอง  แน่นอนพระองค์ทรงตระหนักดีว่า สิ่งไหนเป็นพระราชกรณียกิจที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติ  พระองค์ทรงยินดีปฏิบัติสิ่งนั้นโดยเปิดเผย  ไม่แสดงความลำเอียงเข้าข้างบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง   เพราะพระองค์ปรารถนาที่จะเห็นทุกคนมีเสรีภาพ  รู้จักเคารพสิทธิและเสรีภาพซึ่งกันและกัน  ทั้งยังเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของคนในชาติ  ตลอดจนสร้างความเสมอภาคในระหว่างราษฏรทุกหมู่เหล่า  เสมือนเป็นการปลุกจิตสำนึกให้ทุกคนอยู่ร่วมกันในวิถีทางแห่งประชาธิปไตย  ดังพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่  วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.  ๒๕๑๘ ความว่า

“…..อันแผ่นดินของเรานี้  ถึงจะเป็นที่เกิดที่อาศัยของคนหลายเชื้อชาติ หลายศาสนา แต่เราก็อยู่ร่วมกันโดยปกติราบรื่นมาได้เป็นเวลาช้านาน  เพราะเราต่างสมัครสมานกัน  อุตส่าห์ช่วยกันสร้างบ้านเมือง สร้างความเจริญ สร้างจิตใจ สร้างแบบแผนที่ดีขึ้นเป็นของเราเองซึ่งแม้นานาประเทศก็น่าจะนำไปเป็นแบบฉบับได้  เพราะฉะนั้น  ถ้าเราทั้งหลายมีสามัคคี มีเหตุผลอันหนักแน่น  และมีความรู้ความเข้าใจอันถูกต้องชัดเจนในสถานการณ์ที่เป็นจริง  ต่างคนต่างร่วมมือร่วมความคิดกันในอันที่จะช่วยกันผ่อนคลายปัญหาและสถานการณ์ที่หนักให้เป็นเบา ไม่นำเอาประโยชน์ส่วนน้อยเข้ามาเกี่ยวข้องให้เสียหายถึงประโยชน์ส่วนใหญ่ของชาติบ้านเมือง เชื่อว่าเราสามารถรักษาชาติ   ประเทศ  และความผาสุกสงบที่เราได้สร้างสมและรักษาสืบต่อกันมาช้านานไว้ได้…”

จะเห็นได้แจ้งชัดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์   การอยู่รวมกันของคนในชาติไม่ว่าจะเป็นคนนับถือศาสนาใดหรือเชื้อชาติใด  ทั้งพยายามประคับประคองให้ทุกคนรู้จักปรองดองกันแบบสมานสามัคคีกันเรื่อยมา  หากไม่ทำเช่นนั้นแล้วบ้านเมืองเราคงอยู่ไม่รอดมาจนถึงทุกวันนี้อย่างแน่นอน   นั่นเป็นการแสดงให้เห็นในส่วนลึกของน้ำพระทัยที่พระองค์ปรารถนาจะเห็นร่มเงาแห่งประชาธิปไตยแผ่ขยายออกไปสู่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน

ถ้าลองย้อนพินิจดู  ระบบการเมืองไทยตั้งแต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยเป็นต้นมา   นับว่ามีความผันผวนมาตลอด  มีการรัฐประหารช่วงชิงอำนาจ  เกิดเหตุการณ์ข้าวยากหมากแพงหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่๒  ค่าเงินบาทลดลงมาก  ค่าครองชีพก็สูงขึ้น  ตามติดมาด้วยปัญหาทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงได้แพร่ระบาดไปทั่ว  ซ้ำร้ายไปกว่านั้น  การสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๘ ยิ่งทำให้ขวัญและกำลังใจของประชาชนสูญเสียหนักขึ้นไปอีก   เรียกได้ว่าภาพรวมทางด้านเศรษฐกิจ  และสังคมของประเทศในยุคนั้นอยู่ในสภาพทรุดโทรมอย่างหนัก  จนเวลาลุล่วงมาถึงช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ได้ทรงเข้าพิธีบรมราชาภิเษก  เหตุการณ์วิกฤตต่างๆก็ค่อยๆคลี่คลายไปในทางที่ดี

สถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้นถือว่าไม่ราบรื่นเสียทีเดียว  ทั้งนี้เพราะประเทศกำลังอยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของการผลัดเปลี่ยนอำนาจจากบุคคลในวงการคณะราษฎรมาเป็นคณะทหาร  และคณะทหารก็มีการสับเปลี่ยนช่วงชิงอำนาจจากคณะหนึ่งไปสู่อีกคณะหนึ่งตลอดมา   ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์  คือ มีการปิดสภาผู้แทน   รัฐประหารเงียบโดยหัวหน้ารัฐบาลเอง   จากนั้นก็มีคณะทหารที่นำโดยนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้า  ยึดอำนาจบีบบังคับให้นายกรัฐมนตรีลาออก  และสภาก็ได้แต่งตั้งพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี   ต่อมาก็เกิด “กบฎบวรเดช”  และในช่วงถัดมาก็มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน  ราษฏรเป็นครั้งแรกในเมืองไทยโดยเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม  จนกระทั่งมาถึงสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๗ ทรงสละราชสมบัติ อันเนื่องมาจากการเสด็จไปรักษาพระองค์ที่ประเทศอังกฤษ  ประกอบกับทรงมีความขัดแย้งกับรัฐบาลจนไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองช่วงนั้นแม้จะผันผวนดังกล่าวแล้ว แต่มองโดยภาพรวมจาก  ช่วงต้นของการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯเป็นต้นมาก็ถือว่าเป็นการฟื้นตัว  สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ มีการขัดแย้งและช่วงชิงอำนาจกันอีกหลายครั้งหลายหน  แต่ก็ดำเนินไปตามแนวทางแห่งประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ที่มีการปรับปรุงแก้ไขกันเรื่อยมา  ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีการออกกฎหมายตั้งพรรคการเมืองเป็นครั้งแรกขึ้นในประเทศไทย  เพื่อส่งเสริมระบบพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยให้ยั่งยืนถาวร  พรรคที่สำคัญในช่วงนั้น ได้แก่ พรรคเสรีมนังคศิลา  มีจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นหัวหน้าพรรค และพรรคประชาธิปปัตย์ มี นายควง อภัยวงศ์เป็นหัวหน้าพรรค  ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดถึง ๑๕ ปีกว่า  โดยแบ่งออกเป็น ๒ ช่วง  คือช่วงแรก ๒๔๘๑- ๒๔๘๗  และช่วงหลัง ๒๔๙๑- ๒๕๐๐    แต่ประชาธิปไตยไทยต้องดับแสงลงอีกครั้งเมื่อจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ทำการปฏิวัติรัฐประหาร  ขึ้นปกครองประเทศโดยไม่มีรัฐธรรมนูญ ในช่วงปี ๒๕๐๐- ๒๕๐๘

ถึงแม้การเมืองภายในประเทศดำเนินไปแบบล้มลุกคลุกคลานก็ตาม  แต่พระองค์ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญปกครองราชอาณาจักรไทยให้พัฒนาไปตามรูปแบบของประชาธิปไตยอย่างสุขุมคัมภีรภาพ  โดยคำนึงถึงสถานการณ์ภายในประเทศและความมั่นคงของชาติเป็นสำคัญ  อาจกล่าวได้เต็มปากว่าอำนาจประชาธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยโดยแท้จริง  ก็เพราะว่าพระองค์มีส่วนสรรค์สร้างและส่งเสริมให้ระบอบประชาธิปไตยดำเนินไปในวิถีทางที่เหมาะสมที่สุด  ซึ่งส่งผลให้เกิดความสงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง  แต่ช่วงหลังจากนั้นประเทศชาติเริ่มมีการพัฒนาอย่างมีระบบมากขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมือง  ตลอดจนโครงการต่างๆตามพระราชดำริเพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนก็เริ่มปรากฏเห็นชัดยิ่งขึ้น  แม้กระทั่งหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง”ที่พระองค์ทรงพระราชดำริมาแต่ต้นเพื่อให้คนไทยรู้จักใช้ชีวิตแบบอดออมพออยู่พอกิน ไม่ตกอยู่ในกระแสบริโภคนิยมจนละเลยคุณธรรมอันดีงาม  จะเห็นว่าพระองค์มีความห่วงใยในทุกข์สุขของราษฎรในทุกๆด้าน  และพยายามยืนอยู่ตรงกลางคอยเชื่อมร้อยดวงใจของคนในชาติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสมอมา

สิ่งที่ยืนยันได้แจ่มชัดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการช่วยประคับประคองประชาธิปไตยในบ้านเมืองของเราให้เกิดความร่มเย็นมาอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งดูจากเหตุการณ์ไม่สงบที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองถึง ๓ ครั้ง อันเกี่ยวเนื่องกับวิถีทางแห่งประชาธิปไตยทั้งสิ้น  แต่ละครั้งสร้างความกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของประเทศ และความสงบสุขของประชาชนจนเกิดความระส่ำระสายไปทั่ว

เหตุการณ์ครั้งที่๑ คือ เหตุการณ์ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ หรือวันมหาวิปโยคของประวัติศาตร์ชาติไทย  ซึ่งมีเหตุมาจากการที่นิสิต นักศึกษา และประชาชนเรียกร้องรัฐธรรมนูญ  จนเกิดการปะทะกันขึ้นอย่างรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ตำรวจ  จนถึงขั้นบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก  เหตุการณ์ครั้งนั้นเหมือนกองไฟที่กำลังลุกไหม้แผ่นดิน  แต่ถูกดับลงด้วยดีก็เพราะพระบุญญาธิการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั่นเอง  ที่รับสั่งให้ผู้นำประเทศเข้าเฝ้า  ทรงระงับเหตุร้าย  มีพระราชดำรัสแก่ประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ   สถานการณ์จึงสงบลงได้  มิฉะนั้นแล้วเหตุการณ์อาจจะลุกลามใหญ่โต  เพราะการต่อสู้ได้ขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว  ผู้เรียกร้องได้ทำลายสถานที่ราชการและทรัพย์สินต่าง ๆ ทั้งของรัฐบาลและเอกชนเป็นจำนวนมาก  จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรียินยอมลาออกจากตำแหน่งและเดินทางออกนอกประเทศในเวลาต่อมา  และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้นายสัญญา  ธรรมศักดิ์  อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และองคมนตรี  ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน  บรรยากาศแห่งประชาธิปไตยก็เบ่งบานขึ้นมาอีกครั้ง  หลังมืดมนมาเป็นเวลาหลายปี

เหตุการณ์ครั้งที่ ๒ เกิดขึ้นเมื่อ ๖  ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙      มีการยึดอำนาจจากรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมช  โดยมีพลเรือเอกสงัด  ชะลออยู่  ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นหัวหน้า  ก่อนจะมีการยึดอำนาจการปกครอง       เพราะช่วงนั้นเป็นเหตุการณ์สำคัญคือ จอมพลถนอม กิตติขจร เดินทางกลับประเทศ  ทำให้เกิดกระแสต่อต้าน  จนในที่สุดก็เกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมขึ้นอีกครั้งหนึ่ง  ในขณะที่นิสิตนักศึกษาชุมนุมกันอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โดยบุคคลในเครื่องแบบและลูกเสือชาวบ้านได้ล้อมฆ่านิสิตนักศึกษาเหล่านั้นด้วยความโหดร้ายป่าเถื่อน  จนนำมาสู่การปฏิวัติดังกล่าว  และทำให้เกิดความแตกร้าวทางความคิดทางประชาธิปไตยของคนในชาติครั้งยิ่งใหญ่  โดยรัฐบาลใช้อำนาจปราบปรามนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่มีความเห็นตรงกันข้ามจนต้องหนีเข้าป่าไปร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นจำนวนมาก  นับได้ว่าเป็นยุคมืดแห่งประชาธิปไตยของบ้านเมืองอีกช่วงหนึ่ง  ทำให้ผู้คนเกิดความแตกแยกทางความคิด  แบ่งเป็นฝ่ายขวา  ฝ่ายซ้ายอย่างชัดเจน  แต่ช่วงที่พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์  ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้ฝ่าฟันเพื่อประชาธิปไตยของบ้านเมืองตลอดมา เพราะต้องประสบกับการกบฎถึง ๒ ครั้ง  และหลังจากเหตุกาณ์ต่าง ๆ ได้คลี่คลายลง  ทางรัฐบาลเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาและประชาชนที่เข้าป่าออกมามอบตัวโดยไม่มีความผิด

เหตุการณ์ครั้งที่ ๓ เกิดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๗ – ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๕  ได้มีการปะทะต่อสู้กันอย่างรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารกับราษฎรผู้มาชุมนุม  จนกลายเป็นเหตุการณ์นองเลือดมีผู้ได้รับบาดเจ็บ   และล้มตายเป็นจำนวนมากในสมัยที่   พลเอก สุจินดา  คราประยูรเป็นนายกรัฐมนตรี  สถานที่ราชการหลายแห่งถูกทำลายเสียหาย และมีทีท่าว่าจะลุกลามใหญ่โตเช่นเดียวกัน  ในที่สุดก็ต้องพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นเอกองค์แห่งศรัทธาของมหาชนทั้งประเทศได้เข้ามาช่วยขจัดปัดเป่าปัญหาวิกฤตดังกล่าวให้ลุล่วงไปด้วยความเป็นธรรม  คือโปรดกล้าฯให้บุคคลสำคัญทั้งสองฝ่ายเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานกระแสเพื่อไกล่เกลี่ยให้เกิดความปรองดองกัน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

จนกระทั่งมาถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ก็ได้มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งได้กลายมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๐  จะเห็นว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา  รัฐธรรมนูญฉบับต่างๆที่อยู่ภายใต้ร่มบารมีของพระองค์เปรียบเสมือนเป็นการสร้างสะพานแห่งประชาธิปไตยนำปวงชนไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุข  ยืนหยัดอยู่บนรากฐานแห่งสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งเป็นแก่นแท้ของประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  พระองค์เปรียบประดุจเป็นร่มโพธิ์ทองของประชาราษฎร์  ที่แผ่ร่มเงาแห่งความเสมอภาคแก่ประชาชนอย่างถ้วนหน้า

ความสง่างามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นก็คือการใช้พระราชอำนาจอย่างสมดุล  ไม่ก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนถึงประชาชน  พระองค์ทรงใช้อำนาจผ่านรัฐสภาภายใต้รัฐธรรมนูญ   และยังเป็นมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นสัญลักษณ์ของชาติ  ทรงวางพระองค์อยู่เหนือการเมืองการปกครอง  ทรงเชื่อมความสามัคคีระหว่างรัฐกับประชาชน  เป็นศักดิ์เป็นศรีแก่ประเทศ  และสร้างความศรัทธาให้กับประชาชนโดยไม่มีความแปดเปื้อนจากการลำเอียง  พระองค์คอยประคับประคองให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยดำเนินไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม และคอยปกปักษ์รักษาประโยชน์สุขของประชาชนอย่างทั่วถึง   เหมือนดังทัศนะเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของศาสตราจารย์ ธานินทร์  กรัยวิเชียร ที่ว่า

“สถาบันพระมหากษัตริย์ เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการกำเนิดชาติไทย  และยังยืนยงคงอยู่ได้โดยตลอด เป็นสถาบันที่พาชาติไทยฟันฝ่าอุปสรรค  และวิกฤตการณ์นานัปการผ่านพ้นมาได้ ให้ความรุ่งเรืองแก่มหาชนตลอดเวลาอันยาวนาน  พระมหากษัตริย์ได้ทรงทำหน้าที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ ทรงเป็นสายสัมพันธ์เชื่อมวิญญาณไทยในอดีต  ผ่านปัจจุบันสู่อนาคต  จากบรรพบุรุษสู่ผู้สืบสันดาน  ตราบใดที่ผู้สืบเชื้อสายไทยยังไม่สิ้นไปจากโลก  ตราบนั้นพระมหากษัตริย์ก็ไม่มีวันเสื่อมสูญไปเช่นกัน”

มาถึงวันนี้ ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในช่วงที่พระองค์เป็นประมุข  ผู้คนทั่วไปต่างยอมรับร่วมกันแล้วว่า  สิ่งต่าง ๆ ที่ได้กำหนดขึ้นมาในรัฐธรรมนูญนั้นก็เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างทั่วหน้ากัน  อย่างน้อยที่สุดก็ได้อ้างสิทธิดังกล่าวจากผู้มีอำนาจปกครอง  ขณะเดียวกันทางฝ่ายผู้มีอำนาจปกครองเองก็จะอิงรัฐธรรมนูญ เพื่ออ้างความชอบธรรมในอำนาจปกครอง เพื่อให้ตนและหมู่คณะจะได้อยู่ในตำแหน่งแห่งอำนาจต่อไป  จะเห็นว่า  บางช่วงบางตอนที่มีคณะทหารเข้าทำการรัฐประหารยึดอำนาจ  ก็ต้องประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนั้นโดยพลัน  จากนั้นก็จะรีบประกาศใช้หรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาในระยะเวลาที่กำหนด  แทบจะกล่าวอ้างได้ว่ารัฐธรรมนูญกับพระมหากษัตริย์จะต้องเดินคู่กันไปในระบบการเมืองการปกครองของไทยเลยก็ว่าได้

เมล็ดพันธุ์แห่งประชาธิปไตยได้หว่านลงบนผืนแผ่นดินไทยมานับตั้งแต่ วันที่ 24 มิถุนายน  2475  จนลุล่วงมาถึงช่วงสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯเสด็จขึ้นครองราชย์  ประชาธิปไตยก็ยังคงเจริญงอกงามเรื่อยมา  โดยเนื้อแท้แห่งประชาธิปไตยนั้นยังคงวับวาวและทรงคุณค่าอยู่เหมือนเดิม  มันได้ถูกถ่ายทอดสืบเนื่องกันมาในวงการเมืองการปกครองของไทย  แม้บางคราวจะดูอับเฉาแห้งเหี่ยวไปบ้าง  เพราะบางช่วงบางตอนได้มีระบบเผด็จการเข้ามาแทรกซ้อน  บางครั้งก็ได้มีการดัดแปลงบางสิ่งบางอย่างในจุดที่บกพร่องของเนื้อหาสาระหรือมีความขัดแย้งในเชิงปฏิบัติของตัวรัฐธรรมนูญเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่ใช้กันมาเกือบสิบปี  ก็ถูกฉีกทิ้งอีกครั้งหนึ่งเมื่อคณะปฏิวัติรัฐประหารเข้ายึดอำนาจจากพันตำรวจเอกทักษิณ  ชินวัตร เมื่อวันที่ ๑๙  กันยายน  ๒๕๔๙   นำโดยพลเอกสนธิ         บุญยรัตกลิน  และโปรดเกล้าให้พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี  ประเทศไทยจึงตกอยู่ภายใต้ประชาธิปไตยแบบจำยอม  แม้จะเป็นช่วงที่ประชาธิปไตยครบรอบ ๗๕ ปีพอดี  แต่ก็แปลกที่ว่าการปฏิวัติครั้งนี้ไม่มีการเสียเลือดเนื้อแม้แต่หยดเดียว   ทั้ง ๆ ที่ประชาชนเกิดมีความคิดแตกแยกแบ่งเป็นเป็นฝักเป็นฝ่าย  มีการเผชิญหน้ากันแต่ไม่เกืดปะทะกัน  ก็ด้วยพระบุญญาบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั่นเอง  ที่พสกนิกรยังให้ความสำคัญและจงรักภักดีอย่างเหนียวแน่น  และไม่อยากทำลายความดีงามที่พระองค์เพียรปฏิบัติมาด้วยความเหนื่อยยากเพื่อชาติเพื่อแผ่นดินของพระองค์  ความรู้สึกที่เกิดความร้าวฉานต่อกันของผู้คนในบ้านเมืองก็คงจะเดินไปสู่หนทางแห่งความสมานฉันท์กันในที่สุด หลังจากมีการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ  และมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในระบอบประชาธิปไตย

ความเบ่งบานแห่งประชาธิปไตยในประเทศไทยในยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ดูเหมือนจะทัดเทียมกับระบบประชาธิปไตยในอารยประเทศทั่วไป  เพราะนอกจากเราจะมีรัฐธรรมนูญที่มีประชนมีส่วนร่วมในการร่างมากที่สุดแล้ว เรายังมีระบบรัฐสภาที่แข็งแกร่งมากว่าสามทศวรรษที่เมืองไทยมีระบบสองสภา คือมีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อถ่วงดุลอำนาจระหว่างกัน

จริงอยู่แม้บ้านเมืองจะมีระบบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญก็ตามที  แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่อีกมาก  โดยเฉพาะปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียง  การใช้อิทธิพลต่างๆนานาเพื่อเป็นการแหวกทางเข้าไปผู้แทนบริหารบ้านเมือง  จำเป็นอยู่เองที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศโดยแท้จริงจะต้องตื่นตัวในเรื่อง “สิทธิและเสรีภาพ”ให้มากที่สุด  เพราะสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิพื้นฐานแห่งมนุษยชนที่ทุกคนมีเท่าเทียมกัน    การที่ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากเท่าไร  ก็เท่ากับเป็นการพัฒนาบ้านเมืองให้ผู้คนได้ตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์มากขึ้นเท่านั้น   แต่ในขณะเดียวกันพระองค์ยังให้สติกับประชาชนที่ใช้สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งว่าจะต้องคัดกรองเอาคนดีเข้าไปบริหารบ้านเมือง ดังพระบรมราโชวาทที่ว่า “ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้หมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี  ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง  และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”

เป็นที่ทราบกันดีว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้อำนาจเท่าที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญอย่างเที่ยงธรรม  นั่นคือพระราชอำนาจในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่อยู่คู่แผ่นดินไทยมาช้านาน  พระราชอำนาจที่พระองค์มีนั้นพอจำแนกเป็นเรื่องสำคัญได้ ๓ ประการคือ  พระราชอำนาจทั่วไป  พระราชอำนาจในฐานะเป็นประมุข และพระราชอำนาจในฐานะที่ทรงเป็นที่มาแห่งเกียรติยศและความยุติธรรม

กรณีพระราชอำนาจทั่วไป ก็คือ พระราชอำนาจที่จะได้รับการกราบบังคมทูลและการปรึกษาหารือจากรัฐบาล  ทั้งนี้ก็เพราะพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและใช้พระราชอำนาจตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี  แม้พระองค์มิต้องทรงรับผิดในผลแห่งการกระทำนั้นก็ตาม  ส่วนพระราชอำนาจในฐานะพระประมุขนั้น เป็นที่ทราบดีกันอยู่แล้วที่พระองค์ทรงใช้อำนาจทั้งทางด้านนิติบัญญัติและด้านบริหารภายใต้กฎเกณฑ์แห่งรัฐธรรมนูญ เช่นทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีตามคำกราบบังคมทูลของนายกรัฐมนตรี  พระราชอำนาจที่สำคัญอีกอันหนึ่งก็คือพระราชอำนาจในฐานะที่ทรงเป็นที่มาแห่งเกียรติยศและความยุติธรรม  เช่น พระราชอำนาจที่จะสถาปนาและถอดถอนฐานันดรศักดิ์  พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ที่ต้องคำพิพากษาว่ากระทำผิดทางอาญาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้

สิ่งหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีความเป็นห่วงเป็นใยในปัญหาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของเราตลอดมา  นั่นก็คือทรงพระราชทานคำแนะนำ ให้สติ และติติงนักการเมือง ข้าราชการในโอกาสต่างๆที่เป็นพระราชอำนาจเชิงคุณธรรมของพระมหากษัตริย์ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นจริยธรรมของรัฐและประชาชน  ให้มองเห็นความเลวร้ายของการทุจริตคดโกงชาติบ้านเมือง  เท่ากับพระองค์พยายามสร้างกฏเกณฑ์และจริยธรรมของนักการเมืองที่เข้ามาหวังผลประโยชน์จนลืมอุดมการณ์ของตัวเอง  และก่อให้เกิดผลเสียหายต่อระบบประชาธิปไตย

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยแท้ที่ต้องการเห็นความสงบสุขในหมู่เหล่าพสกนิกรภายใต้ร่มเงาแห่งประชาธิปไตยตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ  พระองค์ทรงเป็นฉัตรชัย  ทั้งเป็นศูนย์รวมแห่งความรักความสามัคคี  ยามใดที่บ้านเมืองเกิดภัยพิบัติ  พระองค์ก็ทรงเข้าดับทุกข์ภัยดังกล่าวด้วยพระปรีชาญาณให้ผ่านพ้นไปด้วยดีแทบทุกครั้งดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น  และเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๒  พรรษา  ๕ ธันวาคม  ๒๕๕๒ ชาวไทยทุกคนพร้อมใจกันน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัย  ขออานุภาพแห่งบุญบารมี  พระศรีรัตนตรัย  พระสยามเทวาธิราช และเดชะอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากล  โปรดอภิบาล ดลบันดาลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  ทรงเจริญพระชนมายุยั่งยืนนาน  เป็นร่มโพธิ์ทองของปวงชน และเป็นรากแก้วแห่งประชาธิปไตยไทยสืบต่อไป

 

วิทยาจารย์ : เชาว์ศิลป์  จินดาละออง

 

 


ใส่ความเห็น

หมวดหมู่