Posted by: chaosinbooks | 17/08/2009

กรรมของป๋า


ข่าวเออร์ลี่รีไทร์รอบใหม่แว่วเข้าหูมาหลายวันแล้ว   นับว่าเป็นข่าวดีที่หอมหวนยวนใจไม่น้อยสำหรับข้าราชการอาวุโสอย่างผม    คราวที่แล้วผมอายุราชการไม่ครบยี่สิบห้าปี  เลยหมดสิทธิ์ยื่นขอเกษียณ   แต่คราวนี้เงื่อนไขครบทุกอย่างทั้งอายุจริงและอายุงาน   เพื่อนครูหลายคนในโรงเรียนต่างฝันที่จะออกไปใช้ชีวิตอย่างสงบในบั้นปลาย   อีกใจหนึ่งก็ฝันถึงโบนัสก้อนโตนั้นด้วย

ผมจำได้ว่าคนแรกในโรงเรียนที่ประกาศเปรี้ยงปร้างขอเกษียณก่อนใครเห็นจะเป็นอาจารย์เคนนั่นเอง   แต่ครูส่วนใหญ่ในโรงเรียนมักเรียกว่า “ป๋า”กันจนติดปาก

“ออกแน่  คราวนี้” อาจารย์เคนย้ำหนักแน่น

ผมเองก็ฝันถึงโอกาสนี้มานานแล้ว    รู้สึกเบื่อหน่ายความจำเจในชีวิตราชการเต็มที   อยู่ไปก็แค่นั้น   มีแต่การแบ่งพรรคแบ่งพวก  ชิงดีชิงเด่นกันไม่สิ้นสุด  งานสอนก็หนัก  แถมเงินเดือนก็น้อยนิด

“ออกแน่นะป๋า” ผมกรากเข้าไปจับมืออาจารย์เคนเพื่อยืนยันความแน่ชัด

“ชัวร์  คราวนี้ไม่พลาด   เบื่อสอนเด็กจะตายอยู่แล้ว” ป๋ายืนกรานแข็งขัน

“ดีเหมือนกันจะได้ไม่ต้องยุ่งกับเรื่องเขียนแผนการสอน หรือต้องรบรากับเด็กอีก”

“ความจริงป๋าน่าจะเออร์ลี่ฯ ตั้งแต่เที่ยวก่อน    จะได้ออกไปนอนตีพุงเล่นอยู่กับบ้านให้สบายอารมณ์” อาจารย์สาวคนหนึ่งแซวเล่น   เพราะเห็นว่าป๋าเป็นคนมีอารมณ์ดี  พูดเล่นพูดหัวกับครูคนไหนก็ได้ในโรงเรียน  ยิ่งคุยเรื่องลามกสองแง่สองง่ามด้วยแล้ว  ป๋าถนัดนัก  แถมยังชักเอานิทานสัปดนพิลึกพิลั่นออกมาเล่าให้อาจารย์สาวๆฟังได้อย่างไม่กระดากปาก

“ออกได้ที่ไหนเล่าตอนนั้น  คำนวณเงินบำนาญแล้วได้ไม่เท่าไหร่  ออกไปก็กินแกลบ” ป๋าเป็นคนตรงไปตรงมาชอบพูดจาโผงผาง  ติดปากคำว่า “กู”เป็นนิจสิน  ไม่มีใครห้ามได้  บางทีกับเด็กก็เผลอหลุดออกไปบ้างเหมือนกัน  ดีที่ว่าเด็กส่วนใหญ่ไม่ถือสาหาความ  เพราะเข้าใจป๋าดี  ข้อสำคัญคือป๋าเป็นคนไม่ขี้เหนียวคะแนน  ใครเรียนไม่เรียนหรือนั่งหลับนั่งหาว  ป๋าให้เกรดสี่แทบยกห้อง  ด้วยเหตุนี้เองจึงไม่มีเด็กคนไหนบ่นด่าว่าป๋าได้ลงคอหรอก  แม้แกจะพูดหยาบคายไปบ้างหรือในบางวันบางคาบป๋าจะเอากลิ่นเหล้าเข้ามาในห้องสอนด้วยก็ตาม

“ว่าแต่ตอนนี้ก็เถอะ  เงินบำนาญมันจะพอค่าเหล้ารึเปล่า” คนพูดคนเดิมรีบเดินหนีหลังจากแซวกันพอหอมปากหอมคอ   ป๋าได้แต่ยืนยิ้มอย่างรู้ทัน

ผมเองก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่า  ถ้าป๋าออกไปอยู่บ้านจริงๆ  ชีวิตคงเซ็งน่าดู  แน่นอนความเหงาก็จะเข้ามาเยือน   และไม่พ้นต้องเอาขวดเหล้าเป็นเพื่อนปลอบใจทุกเย็น   เพราะไม่ได้เจอหน้าเจอตาเพื่อนฝูงเก่าๆที่เคยคบหากันเป็นประจำ    ดีไม่ดีอาจหงุดหงิดหาเรื่องทะเลาะกับเมียหนักขึ้นไปอีก

ทุกคนทราบดีว่าเมียป๋าเป็นครูเหมือนกัน  แต่อยู่คนละโรง  แถมยังดุอีกต่างหาก  มีอยู่ครั้งหนึ่งป๋าไปหลีครูสาวในหมวดภาษาต่างประเทศซึ่งย้ายมาใหม่  ถึงขั้นนั่งรถออกไปไหนมาไหนด้วยกันบ่อยๆ จนเพื่อนครูเอาไปซุบซิบนินทากันสนุกปาก  ข่าวนี้ปลิวไปเข้าหูเมียของแกตอนไหนก็ไม่รู้   หล่อนเป็นเดือดเป็นแค้นถึงกับบุกมายืนเท้าสะเอวด่าครูสาวคนที่ว่าถึงหน้าห้องสอนจนเด็กนักเรียนพากันแตกตื่นนึกว่าเขาจะฆ่าจะแกงกัน  โชคดีที่มีครูห้องข้างเคียงออกมาห้ามทัพไว้ทันไม่งั้นเรื่องคงฉาวโฉ่บานปลายไปถึงหูผู้อำนวยการแน่นอน

แต่ถึงยังไงป๋าก็ยังเป็นป๋าอยู่นั่นแหละ  ไอ้เรื่องจะให้เลิกกินเหล้าเลิกเจ้าชู้เห็นทีจะยาก  นี่ขนาดเฉียดๆหกสิบเข้าไปแล้ว   แต่ก็ยังไม่ยอมเลิกราสักที

หลังจากระเบียบการเรื่องเกษียณมาถึงโรงเรียน  ผมกับป๋าเอามานั่งอ่านและศึกษารายละเอียดกันอย่างถี่ถ้วน  พลางคิดคำนวณตัวเลขเงินบำเหน็จบำนาญว่าจะได้รับกันคนละเท่าไหร่  รวมไปถึงเรื่องโบนัสพิเศษที่รัฐบาลแถมให้สิบห้าเท่าของเงินเดือนอีกต่างหาก  ผมไม่แน่ใจว่าป๋าจะชอบใจกับตัวเลขดังกล่าวหรือเปล่า   แต่สำหรับผมถือว่าพอใจสุดๆ…คราวนี้แหละจะได้เอาไปปลดเปลื้องหนี้สินที่ค้างคาไว้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูให้หมดๆไปเสียที  ส่วนที่เหลือก็จะเก็บเอาไว้กินไว้ใช้ในบั้นปลายของชีวิต…

อีกอย่างตอนนี้ผมก็พอเบาใจไปบ้างแล้ว   เพราะลูกสาวคนโตเรียนจบและได้งานทำเป็นหลักเป็นแหล่ง  เหลือแต่ลูกชายอีกคนที่ยังเรียนอยู่ชั้น ม. 6   ซึ่งผมยังอดเป็นห่วงเป็นใยไม่ได้   จริงๆแล้วผมไม่ได้ห่วงลูกอย่างเดียวหรอก  แต่ยังห่วงเงินในกระเป๋าผมจะละลายหายไปกับค่าเรียนกวดวิชาครั้งละหลายพันบาทมากกว่า  เวลาลูกมาขอค่าเรียนทีไรผมสะดุ้งเฮือกทุกที  เพราะแต่ละวิชามันแพงหูฉี่

ผมมาใคร่ครวญเรื่องเออร์ลี่รีไทร์ดูแล้วก็ได้ข้อสรุป  จึงนำไปบอกกล่าวให้เมียรับรู้

“ดีมั้ยล่ะถ้าพี่ออก” ผมขอความคิดเห็น

แทนที่เมียผมจะคัดค้าน   เธอกลับเห็นดีเห็นงามไปเสียอีก

“ดีเหมือนกัน  จะได้ช่วยกันขายของ ไม่ต้องปวดหัวกับเด็ก” เมียผมมองเห็นประโยชน์ไปอีกทาง หวังได้พึ่งแรงงานจากผมบ้าง  เพราะหล่อนเป็นแม่ค้าขายเสื้อผ้าแถวๆหน้าห้างใกล้บ้าน    รายได้ส่วนหนึ่งที่หล่อเลี้ยงครอบครัวให้ลื่นไหลอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะเงินที่ได้มาจากการขายของพวกนี้แหละ  หากหวังแต่เงินเดือนผมเพียงอย่างเดียวมีหวังต้องขุดรากไม้มาต้มกินต่างข้าวแน่ๆ

วันหนึ่งในช่วงที่มีการยื่นใบขอเกษียณฯนั่นเอง   ผมนึกแปลกใจว่าทำไมผู้อำนวยการถึงเรียกผมเข้าไปพบเป็นการส่วนตัว

“นั่งสิ” ผู้บังคับบัญชาเชิญให้ผมนั่งบนโซฟาทันทีที่ผมผลักบานประตูปะทะแอร์เย็นฉ่ำเข้าไปในห้องทำงานอันโอ่โถง

“มีอะไรหรือครับท่าน” ผมตั้งคำถามด้วยความสงสัย

ผู้อำนวยการ ซึ่งอยู่ในวัยไล่เลี่ยกับผมยิ้มพราย “อยากคุยเรื่องเออร์ลี่ฯกับอาจารย์สักหน่อย  ถามจริงๆเถอะจะออกจากครูแน่เหรอ”

ผมยิ้มแห้งๆ “ผมตั้งใจไว้นานแล้วครับเรื่องนี้”

“ออกไปแล้วจะไปทำอะไร   เป็นครูต่อไปไม่ดีกว่าหรือ”

ฟังๆดูก็เหมือนจะเสียดายไม่อยากให้ผมออก    เลยเกลี้ยกล่อมให้สอนหนังสือต่อ   อีกอย่างครูฝ่ายปกครองหาคนมาทำแทนยากเสียด้วยซิ   เพราะไม่อยากมาทะเลาะกับเด็กแสบๆของโรงเรียน  ใครๆก็รู้เด็กเดี๋ยวนี้กลัวครูเสียที่ไหนเล่า

“สุขภาพผมชักแย่แล้วครับทุกวันนี้” ผมพยายามถูๆไถๆเอาสังขารตัวเองเข้าอ้าง “พักนี้ก็ต้องเข้าโรงพยาบาลตรวจเช็คร่างกายกันเป็นประจำทุกเดือน”

ผู้อำนวยการทำหน้ากรุ้มกริ่ม “เอานา  ผมให้เวลาคุณไปคิดอีกคืน   ยังไงๆค่อยมาบอกให้ผมทราบวันพรุ่งนี้ก็แล้วกัน  รู้ไว้ด้วยว่านโยบายนี้เขาต้องการให้คนแก่ๆหรือพวกทำงานไม่เอาไหนออกต่างหาก   คุณยังมีประโยชน์ต่อเด็กต่อโรงเรียนอยู่นะ”

ไม่น่าเชื่อว่าผมโดนลูกยอเข้าไปเต็มๆ   ผมยกมือไหว้ผู้อำนวยการก่อนเดินออกมาจากห้องนั้น   นึกฉงนใจที่ผู้บังคับบัญชายกย่องให้เกียรติผมจนเกินเหตุ…แหมทีอย่างนี้ละก็มีคุณค่าขึ้นมาเชียวนะ  แต่พอเรื่องสองขั้นกลับไม่เห็นหัว…

ตอนเย็นหลังเลิกเรียน  ผมเจอหน้าป๋า   เลยเล่าเรื่องที่ผู้อำนวยการเรียกเข้าพบให้ฟัง

“เฮ้ย  จะมายับยั้งกันได้ยังไง  มันเป็นสิทธิของเรา  โอกาสงามๆอย่างนี้ไม่ใช่หาได้ง่ายๆนะจะบอกให้” ป๋าโวยวายแทนผม เมื่อรู้ว่าผอ.ขอร้องไม่ให้ผมเกษียณ

“นั่นสิ  ผมเลยคิดหนักเลยตอนนี้   จะออกดีหรือว่าอยู่ต่อดี”

ผมได้แต่บ่นให้ป๋าฟังไปยังงั้นเอง  แต่ส่วนลึก  มั่นอกมั่นใจเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์  ไม่ใส่เกียร์ถอยหลังเด็ดขาด

แต่พอถึงวันรุ่งขึ้น  ผมเดินผ่านไปทางห้องธุรการ  เหลือบไปเห็นป๋านั่งยิ้มแฉ่งอยู่ก่อนแล้ว  ผมถึงกับอึ้งแทบไม่เชื่อหูตัวเอง  เมื่อป๋าบอกความจริง

“กูเปลี่ยนใจแล้วนะ  ขอถอนชื่อไม่ยื่นเรื่องแล้วล่ะ ” ป๋าชี้แจงเหตุผล “คิดแล้วไม่คุ้ม”

“เรื่องเงินหรือว่าอะไรป๋า” ผมยังงงๆและสงสัยกับการเปลี่ยนไปอย่างฉับพลันของแกเหมือนกัน  นึกไม่ถึงว่าเหตุการณ์จะพลิกผันออกมาอย่างนี้

“ลองคำนวณดูแล้วเงินที่ได้มีค่าเป็นศูนย์  เป็นครูต่อดีกว่า” แกแจกแจงสาระสำคัญให้ผมฟัง “ตอนนี้กูเป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูอยู่เกือบล้าน  ถ้าออกก็ถูกหักลบกลบหนี้กันหมดพอดี  ไม่มีอะไรกิน   ทนเอาอีกสักปีสองปี  เผื่อรัฐบาลจะขึ้นเงินเดือนให้อีกสักครั้ง”

ในวันต่อมา  ข่าวที่ป๋าเปลี่ยนใจขอถอนชื่อออกถูกนำไปพูดซุบซิบนินทากันในหมู่เพื่อนครูด้วยกันอย่างสนุกปาก

“สงสัยไม่ใช่เรื่องหนี้เรื่องสินหรอก  คงจะเรื่องเมียก่งเมียเก็บแกต่างหาก” เพื่อนครูคนหนึ่งแซวป๋าเล่นไปตามเรื่องตามราว

“อ๋อ ไอ้คนที่อยู่ร้านเสริมสวยนั่นใช่มั้ย  นึกอยู่แล้ว เห็นนั่งรถเก๋งอีแก่ป๋ามากินก๋วยเตี๋ยวเรือหน้าโรงเรียนบ่อยๆ  ที่แท้ก็โคแก่เคี้ยวหญ้าอ่อนนี่เอง” ผมนึกถึงหญิงสาวอายุคราวลูก ซึ่งป๋าเคยแนะนำให้ผมรู้จักโดยบังเอิญที่ร้านก๋วยเตี๋ยวดังกล่าว

“ถ้ายังเป็นครู  มาทำงานมีโอกาสแวบไปหาใครที่ไหนก็ได้ไม่มีใครรู้   แต่ถ้าอยู่บ้านนี่สิลำบากหน่อย  เวลาจะออกไปไหนทีเมียก็ต้องคอยสอบถาม  คอยจู้จี้จุกจิก  ยิ่งกลับดึกดื่นยิ่งแล้วใหญ่” เพื่อนครูคนเดิมนั่นแหละอ้างเหตุผลได้น่าฟัง

เพราะเป็นที่รู้กันทั้งโรงเรียนแหละว่าป๋าแอบไปมีสัมพันธ์รักกับนักร้องสาวที่เช่าคอนโดฯอยู่ใกล้ๆโรงเรียน

ในขณะเดียวกันผมไม่สงสัยแล้วว่า  ทำไมเงินเดือนของป๋าแต่ละเดือนหายไปไหนหมด   จนพักหลังต้องวิ่งกู้ฉุกเฉินสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกันอุตลุด   แถมยังลามปามไปกู้เงินนอกระบบดอกเบี้ยโหดมาใช้อีกต่างหาก  ยิ่งเพิ่มหนี้สินให้ตัวเองออกไปบานเบอะ

ผมกับเพื่อนครูที่ขอเออร์ลี่รีไทร์รอเรื่องอยู่เพียงเดือนเดียวก็รู้ผล  ทุกคนได้รับอนุมัติหมด  ยกเว้นป๋าคนเดียวเท่านั้นที่ถอนชื่อตัวเองออกเสียก่อน    ก็เลยต้องเป็นปู่เฝ้าโรงเรียนต่อไปอีกสองปีถึงจะครบหกสิบตามกำหนดเกษียณอายุราชการจริง

วันหนึ่งผมนึกเหงาๆก็ขับรถเข้าไปโรงเรียน  เพื่อเยี่ยมเยียนเพื่อนครูด้วยกัน  เจอป๋าเข้าคนแรก   เลยไต่ถามสารทุกข์สุขดิบกันตามธรรมเนียม   คุยไปสักพักป๋าก็ระบายความในใจออกมาให้ผมฟังอย่างหมดเปลือก

“กูคิดผิดว่ะ….”

“เรื่องอะไรป๋า” ผมเองก็ชักสงสัย

“ไม่น่าถอนชื่อเรื่องเกษียณก่อนกำหนดเลยวันนั้น   ดูสิตอนนี้ผอ.ให้กูไปทำหน้าที่เป็นฝ่ายปกครอง  มึงเอ๋ย  วันๆมีแต่เรื่องยุ่งหัว  เจอเด็กแสบๆทั้งนั้น     เซ็งจะบ้าตาย”

แกบ่นระงม  เมื่อมาเจองานหนักเอาตอนแก่  ความจริงน่าจะเป็นช่วงที่ได้พักผ่อนนอนตีพุงเล่นอยู่ที่บ้าน  กินบำนาญเล็กๆน้อยๆก็ยังดี

ผมมานึกอีกที  กรรมเวรมีจริง  ก่อนนั้นป๋าทิ้งคาบสอนออกไปกินเหล้าติดลมอยู่ข้างนอกเป็นประจำ  เมื่อครูขอเออร์ลี่ฯออกไปหลายคน   ขาดคนทำงาน  ป๋าเลยได้รับตำแหน่งใหม่ให้มาทำหน้าที่เป็นครูปกครองแทนผม

ผมนั่งคุยอยู่ที่โต๊ะทำงานป๋าอยู่พักใหญ่  ก็ขอตัวจะไปเยี่ยมครูคนอื่นต่อ  ป๋าบอกผมว่าอย่าเพิ่งรีบกลับ    จากนั้นแกก็ก้าวอาดๆไปสั่งงานให้เด็กทำตามสไตล์เดิม  แล้วชวนผมออกไปข้างนอก

“เดี๋ยวออกไปหาอะไรกินกันสักหน่อย”

ผมรู้โดยทันทีว่าแกต้องการชวนผมไปกินเหล้าอย่างแน่นอน  ครั้นผมจะปฏิเสธก็ใช่ที่  ตัวเองก็ชักเปรี้ยวปากอยู่เหมือนกัน  นานแล้วไม่ได้กินเหล้ากับป๋า

มาถึงร้านอาหารในซอยที่เราเคยนั่ง  ว่าแล้วป๋าก็สั่งเหล้าพร้อมกับแกล้มจานโปรดมาตามระเบียบ   แล้วก็เริ่มระบายความทุกข์ใจออกมาอีกระลอก

“เมื่อสองวันก่อนกูทะเลาะกับเมียมาว่ะ”

ผมตีหน้าเศร้าทำทีเป็นทุกข์เป็นร้อนไปกับแกด้วย “อ้าว เป็นยังไงละป๋า”

“ก็เมียจับได้ว่ากูไปมีอีหนูไว้ที่คอนโดฯนะซี  ซวยชิบเป๋งเลย”

“ฝีมือระดับป๋าไม่น่าพลาด” ผมพยายามใส่ลูกหยอดเข้าไปเต็มๆ

“คงมีใครซักคนโทร.ไปบอกแน่ๆเลย  ไม่งั้นมันไม่มาดักกูที่คอนโดตั้งแต่เช้าหรอกวะ” แกเล่าต่อ   คั่นด้วยจังหวะกระดกเหล้าลงคอเอื๊อกใหญ่  “กูก็บอกว่ามานอนเวรกลางคืนที่โรงเรียน  เมียมารู้ตอนไหนก็ไม่รู้ว่า   บังเอิญคืนนั้นไม่ใช่เวรกู  มันโทร.มาถามภารโรงที่โรงเรียน   แล้วตามมาอาละวาดที่คอนโดฯจนต้องเผ่นกันคนละทิศคนทาง  แค่นั้นยังไม่พอ  วันรุ่งขึ้นมันยังมาฟ้อง ผอ.อีกต่างหาก  กูเลยถูกผอ.เรียกเข้าพบตักเตือนเรื่องความประพฤติ  ดีไม่ดีปีนี้ถูกแป้กขั้นเงินเดือน”

ผมทั้งขำทั้งเป็นห่วงเส้นทางชีวิตครูของป๋าที่ต้องมาคดงอเอาตอนแก่

“แล้วเด็กป๋าละ เคลียร์กันยังไง” ผมถาม

“โธ่  คิดว่ามันจะเห็นใจเราบ้างที่ไหนได้อุตส่าห์จ่ายค่าเช่าคอนโดฯให้อยู่  ซื้อมือถือให้ใช้   อะไรๆก็เอื้อเฟื้อเจือจุนทุกอย่าง  มันเสือกมาหา ผอ.เหมือนกัน  บอกว่ากูหลอกมัน  ผอ.เองก็กลุ้มไม่รู้จะตัดสินเรื่องนี้ยังไงดี  ซวยไปกว่านั้นอีก   เมียให้กูเตรียมขนเสื้อผ้าไปอยู่ที่อื่นแล้วขอหย่านี่สิ   กูยังเจ็บกระดองใจไม่หาย”

ผมเห็นสีหน้าของป๋าเป็นสีหน้าของคนทุกข์หนัก  เมื่อชีวิตเจอมรสุมรักมารุมเร้าเอาตอนบั้นปลายใกล้เกษียณ

“ถ้ารู้อย่างนี้  กูไม่น่าถอนชื่อเลยวันนั้น…เวรกรรมจริงๆ”

ป๋าได้แต่คร่ำครวญกับผมด้วยน้ำเสียงอ้อแอ้  ก่อนขับอีแก่เข้าไปในโรงเรียนด้วยท่าทางหวาดหวั่นในชะตากรรมของตัวเอง  ซึ่งไม่รู้ว่าจะลงเอยอย่างไร


สกุลไทย  (ในนามปากกา “ สน สมิหลา”)


ใส่ความเห็น

หมวดหมู่