Posted by: chaosinbooks | 17/08/2009

ชีวจริยธรรม : คำถามแห่งพันธุกรรมของมนุษย์


ขณะที่โลกกำลังก้าวไกลไปข้างหน้า   การพัฒนาวิทยาการใหม่ๆทางด้านวิทยาศาสตร์ก็ก้าวตามไปอย่างไม่หยุดยั้งเช่นกัน     เมื่อไม่นานมานี้เอง     ทางวิทยาศาสตร์ได้มีการค้นพบเรื่องรหัสพันธุกรรมของมนุษย์         ทำให้หลายฝ่ายต่างเกิดความวิตกกังวลกันว่าสังคมมนุษย์เราจะมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางไหนอย่างไร  ด้วยสาเหตุดังกล่าวจึงทำให้มีการตื่นตัวในเรื่อง “ชีวจริยธรรม”กันมากขึ้น   ในขณะเดียวกันก็เกิดมีแนวความคิดหลากหลายถูกหยิบยกมาถกเถียงวิพากย์วิจารณ์กัน   แต่ก็ยังหาข้อสรุปที่ลงตัวไม่ได้   ส่วนใหญ่ต้องการให้นักวิทยาศาสตร์และสังคมมีความเข้าใจในแนวเดียวกัน  นั่นหมายความว่า  หากนักวิทยาศาสตร์ทำการวิจัยพันธุกรรมแล้วจะต้องไม่ก่อความเดือดร้อนให้กับสังคมจนเกินไป   และที่สำคัญเหนือไปกว่านั้นก็คือต้องทำให้ประชาชนทั่วไปรับรู้ในความรู้ใหม่เหล่านี้ว่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง

ทั้งนี้เพราะความรู้ทางด้านพันธุกรรมจะนำไปสู่การคัดเลือกพันธุ์มนุษย์คือสามารถเลือกลูกได้ตามที่ต้องการ  เช่นเลือกว่าฉลาด  ไม่ฉลาด  ตัวเตี้ย  ตัวสูง   ไม่มีโรคภัย  ผิวพรรณ  หน้าตา  หรือลักษณะต่างๆที่พ่อแม่อยากให้เด็กสมบูรณ์แบบตามที่ตัวเองต้องการ  ผิดกับผลิตภัณฑ์ทางธรรมชาติ  ซึ่งไม่มีสิทธิไปกำหนดกฎเกณฑ์อะไรทั้งสิ้น  เกิดมาอย่างไรก็ต้องยอมรับสภาพเช่นนั้นไปจนวันตาย

การกำหนดการเกิดของมนุษย์   ก็เหมือนกับเป็นการฆ่าชีวิตที่ไม่สมบูรณ์ไปในตัว  โดยการนำพาเซลล์ต้นตอนั้นมาใช้ประโยชน์  ตัวอ่อนก็จะต้องตาย  ซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงกันว่าการทำเช่นนี้เป็นการฆ่าชีวิตหรือไม่   ต่างคนต่างแสดงความคิดเห็นออกมาไม่ตรงกัน   ฝ่ายหนึ่งบอกว่าเป็นการฆ่า  แต่อีกฝ่ายบอกว่าไม่ได้ฆ่า   เพราะชีวิตยังไม่ได้เริ่มต้น    ต้องรอหลังจากนั้นอีกระยะหนึ่ง  และหลังจากผสมพันธุ์กันโดยสมบูรณ์แล้วจึงจะก่อเกิดเป็นชีวิต

แน่นอนประเด็นที่อยู่ในหัวข้อโต้เถียงเหล่านี้ มีผลกระทบต่อสังคมโดยรวม   โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านศาสนา   เกิดกระแสของคำถามสวนกลับออกมาว่า   กรณีการตัดแต่งพันธุกรรม  ไม่ผิดหลักศาสนาหรือหลักศีลธรรมของมนุษย์ดอกหรือ  เพราะในขณะนี้  ไม่ว่าศาสนาคริสต์  ศาสนาอิสลาม  หรือแม้แต่ศาสนาพุทธ  ก็มีความเคลื่อนไหวและวิพากษ์วิจารณ์กันมากพอสมควร  ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ  ขณะเดียวกันในแต่ละศาสนาต่างก็ตีความในเรื่องปฏิสนธิไม่ตรงกัน  ทางศาสนาคริสต์เห็นว่าชีวิตเริ่มต้นเมื่อมีปฏิสนธิ  และห้ามแทรกแซงกิจกรรมระหว่างบิดามารดาใดๆทั้งสิ้น   แม้แต่การปฏิสนธิในหลอดแก้วก็กระทำไม่ได้    จะอนุโลมบ้างก็คือให้เกิดปฏิสนธิในร่างกายมารดาได้    แต่มิใช่กระทำข้างนอกแล้วนำกลับเข้าไปฝังตัว   ในทางศาสนาอิสลามบอกว่าชีวิตที่ปฏิสนธินั้นยังไม่มีวิญญาณจนกว่าจะถึง 120 วัน  เพราะฉะนั้นในช่วงนี้จึงทำแท้งได้  แต่ทัศนะที่ไม่เห็นด้วยก็มีเช่นกัน   คือส่วนหนึ่งยอมรับที่วิทยาการใหม่ๆเข้ามามีบทบาทเปลี่ยนแปลงสังคมมนุษย์   แต่อีกส่วนหนึ่งยังยืนยันอย่างแข็งขันว่าเป็นการขัดหลักศาสนา  ถือว่าทำไม่ได้เลย

เมื่อเป็นเช่นนี้ทางด้านวิทยาศาสตร์หรือทางการแพทย์ ยิ่งต้องมีความระมัดระวังในปัญหาดังกล่าวนี้ให้มากขึ้น   คือต้องคำนึงถึงคุณธรรม  โดยไม่ทำร้าย   หรือทำอันตรายต่อสัตว์หรือมนุษย์เพื่อการศึกษาหรือวิจัย   ต้องตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตสัตว์   ไม่ให้ขัดต่อหลักกฎหมายและนโยบายการอนุรักษ์ป่า  ทั้งนี้เพราะสัตว์ก็เปรียบเสมือนสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกับมนุษย์

ดังนั้นปัญหาทางด้าน “ชีวจริยธรรม” ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในเวลานี้ก็คือการโคลนนิ่งมนุษย์ ซึ่งเป็นหัวข้อที่กำลังถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง   เนื่องจากมีผลกระทบต่อด้านศีลธรรมและสังคมมนุษย์  เพราะมนุษย์ที่ถูกโคลนนิ่งออกมาจะไม่มีพ่อแม่ที่แท้จริง   อาจจะมีบุคลิคหรือนิสัยใจคอแตกต่างกันออกไป  แม้รูปร่างหน้าตาจะเหมือนกับบุคคลเจ้าของเซลล์ต้นกำเนิดก็ตาม   แต่อาจก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสังคมในวันข้างหน้าก็ได้

ถ้าพูดถึงในวงการแพทย์แล้ว  การโคลนนิ่งยิ่งนับวันจะได้รับประโยชน์มากขึ้น   โดยมีเป้าประสงค์เพื่อนำอวัยวะไปทดแทนในผู้ป่วย  แต่ก็เป็นปัญหาทางสังคมตามมาที่ว่ามนุษย์โคลนมีอวัยวะไม่ครบ   โดยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง  ทุกประเทศทั่วโลกจึงห้ามการโคลนนิ่งมนุษย์   แต่ถึงกระนั้นในบางประเทศก็ได้ร่างกฎหมายเกี่ยวกับชีวจริยธรรมขึ้นมา   เพื่อขออนุญาตใช้ตัวอ่อนมนุษย์ในการทำวิจัย  เช่น  ฝรั่งเศส  อังกฤษ  จีน  และ ญี่ปุ่น

เดิมทีปัญหาเรื่องทำแท้งก็ป็นปัญหาใหญ่ทางด้านสังคมที่สืบเนื่องกันมายาวนาน  และยังไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ  เพราะถือว่าการทำแท้งเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรม  เป็นบาป  แต่เมื่อไม่นานมานี้ในสหรัฐอเมริกาบางรัฐลงความเห็นว่า  การท้องเป็นเรื่องส่วนตัว  เด็กในครรภ์เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของสตรี  จึงมีสิทธิที่จะเลือกให้เด็กอยู่ในครรภ์จนกว่าจะคลอดหรือไม่ก็ได้   แต่อีกกลุ่มหนึ่งถือว่าเด็กในครรภ์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ถือกำเนิดมาเป็นมนุษย์   ดังนั้นการทำแท้งถือว่าเป็นฆาตกรรมอย่างหนึ่ง  แต่ทุกวันนี้ข้อขัดแย้งดังกล่าวได้รับการอนุโลมออกมาเป็นรูปของกฎหมาย   ซึ่งในหลายๆประเทศอนุญาตให้ทำแท้งได้ในสองกรณี   กรณีแรกคือ สุขภาพกาย  สุขภาพจิตของผู้เป็นแม่  และสุขภาพของทารกในครรภ์ไม่สมบูรณ์  เช่นเป็นโรคชนิดร้ายแรง   กรณีที่สอง  การที่ผู้หญิงนั้นตั้งครรภ์เพราะถูกข่มขืน   เหล่านี้ก็ถือว่าเป็นการนำเอาเรื่อง “ชีวจริยธรรม”เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น

ในความเป็นจริง “จริยธรรม”  ก็คือการที่มนุษย์เราดำเนินชีวิตหรือปฎิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่ง  อาจมีผลดีหรือผลร้าย  โดยสัมพันธ์กับความจริงของธรรมชาติ   และถูกต้องตามทำนองครองธรรมนั่นเอง  ส่วนอะไรก็ตามที่ปฎิบัติแล้วก่อให้เกิดผลเสียหาย  ไม่สัมพันธ์กับเหตุปัจจัยของธรรมชาติก็ถือว่าขาดจริยธรรม

ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์พึงสังวร  นั่นคือ  จะต้องไม่ประมาทในเรื่องของการโคลนนิ่งมนุษย์  เพื่อคัดพันธุ์  หรือคัดคนอะไรก็แล้วแต่  จะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งอื่นในระบบความสัมพันธ์ของธรรมชาติให้มาก   ไม่ใช่มัวแต่หลงใหลได้ปลื้มกับความสำเร็จ   แต่ในอนาคตข้างหน้ากลับกลายเป็นผลร้ายต่อมวลมนุษย์อย่างคาดไม่ถึง  นักวิทยาศาสตร์อย่าเพิ่งภูมิใจว่าตนเองกำลังชนะธรรมชาติ   ความจริงแล้วมนุษย์ยังเอาชนะธรรมชาติยังไม่ได้  เรื่องของโคลนนิ่งก็เป็นการเรียนรู้ความจริงจากธรรมชาติ  แล้วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์  ซึ่งเป็นการเลียนแบบกระบวนการของธรรมชาติที่เคยเป็นมาแต่ดั้งเดิมนั่นเอง

จะว่าไปแล้วมนุษย์เราเป็นผู้บันดาลโลกให้เป็นไปตามธรรมชาติ   ซึ่งหมายความว่าสังคมมนุษย์  หรือโลกมนุษย์เป็นไปตามการกระทำที่ประกอบด้วยเจตจำนง  คือมีความมุ่งมั่นในการทำอะไร  โลกมนุษย์ก็เป็นไปตามการกระทำแบบนั้น

แต่มีข้อพึงระวังอยู่ว่าอย่าใช้เจตจำนงไปในทางที่ผิด   เต็มไปด้วยความโลภ  ความเห็นแก่ตัว  หรือเอาความอยากได้ดีมีชื่อมีเสียงเป็นที่ยกย่องของสังคมอันเรียกว่า “ตัณหา” เข้าไปตัดสินสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่รอบคอบ  มันอาจกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อปัญหาติดตามมา   เพราะฉะนั้นการจะเลือกทำอะไรนั้นต้องมีเจตนาบริสุทธิ์   มีความปรารถนาดี  มีเมตตาธรรมที่แท้จริงต่อเพื่อนมนุษย์หรือต่อสังคมส่วนรวม

อย่างไรก็ตาม  การจะทำให้มนุษย์เรามีจิตสำนึกดีได้นั้น  สิ่งแรกจะต้องมีการพัฒนาคุณภาพคนก่อน  นั่นคือการให้การศึกษาเพื่อสร้างสรรค์สังคม   เล็งเห็นความก้าวหน้าของชาติบ้านเมืองที่เดินไปในทิศทางที่ถูกที่ควร  คนที่ได้รับการศึกษาดีมีคุณภาพนั้นจะต้องเป็นคนที่มีปัญญาและมีเจตนาดีเป็นหลัก

บางครั้งมนุษย์เราก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม  อย่างเช่นในยุคปัจจุบันเรียกว่า  ยุควัตถุนิยม  มนุษย์มักจะมองเห็นแต่ความโลภ  คลั่งไคล้แสวงหากันแต่เรื่องทรัพย์สินเงินทอง   เรื่องคุณธรรมอันดีงามของจิตใจถูกเหยียบย่ำลงจมดิน  มนุษย์ส่วนใหญ่คิดแต่เอาฝ่ายเดียว   คนอื่นไม่เกี่ยวขอให้ตัวเองได้ประโยชน์ก็พอ  โดยไม่ได้คำนึงถึงระบบนิเวศ  หรือต่อสัตว์ทั้งหลาย  ธรรมชาติแวดล้อมก็พลอยเสียหาย   ดังนั้นมนุษย์ต้องฝึกให้เป็นคนใจกว้าง   เห็นแก่ความเป็นอยู่ที่ดีของโลก   และความร่มเย็นเป็นสุขของมวลมนุษย์ด้วยกัน

ประเด็นที่เข้ามาเกี่ยวข้องมากที่สุดในเรื่อง “ชีวจริยธรรม” ก็คือเรื่องบุญ-บาป ทางพุทธศาสนา  ที่วิทยาศาสตร์มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับ “ชีวิต”  ตรงไหนอย่างไรถึงเรียกว่าเป็นการฆ่าหรือไม่ฆ่า  ตรงไหนที่ถือว่าปฎิสนธิเกิดขึ้นหรือยัง

ในทางหลักพุทธศาสนาถือว่า  การปฎิสนธิได้นั้นต้องอาศัยความพร้อมของฝ่ายบิดามารดา  และมารดาอยู่ในภาวะที่เอื้ออำนวย  สัตว์ก็เกิดได้  ตอนนั้นถือว่าชีวิตเริ่มแล้ว  ซึ่งเป็นการปฏิสนธิทางวิญญาณ   แต่ในทางวิทยาศาสตร์ย่อมเป็นที่ทราบกันว่า  การปฏิสนธิโดยไข่กับเชื้อตัวผู้เกิดในท่อรังไข่  ยังไม่ได้ไปฝังในมดลูก  ก็แปลว่าสัตว์ยังไม่ได้มาเกิด  นี่คือสิ่งที่ขัดแย้งกันอยู่  จะบาปหรือไม่บาป  หรือว่าบาปน้อยบาปมาก  ย่อมขึ้นอยู่กับเจตนาเป็นสำคัญ   เพราะฉะนั้นในทางวิทยาศาสตร์  หรือทางการแพทย์จะต้องยึดหลักในการพิจารณาให้ถ่องแท้ด้วยเหตุด้วยผล   แบบเดียวกับการนำสัตว์มาทดลองดังที่ทำกันอยู่ในทุกวันนี้  มนุษย์ย่อมใช้ปัญญาในการตัดสินในการกระทำ  คือต้องทำด้วยปัญญา  ประกอบกับเจตนาที่ดีที่สุด   พิจารณาแล้วได้ประโยชน์มากกว่า  และไม่ประมาท  ในขณะเดียวกันก็ต้องแสวงหาความรู้และปัญญาให้มากขึ้น  เพื่อปรับปรุงพัฒนาในการกระทำครั้งต่อไปให้มีผลดียิ่งๆขึ้น

ดังนั้นการทดลองกับสัตว์  จะต้องอ้างว่า  ทำเพราะต้องการช่วยเหลือชีวิตมนุษย์  เป็นสร้างบุญมากกว่าสร้างบาป

การโคลนนิ่งมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน  เพื่อให้เกิดเป็นชีวิตใหม่  เป็นคนใหม่  ซึ่งเราเองก็ไม่รู้ว่าผลในภายหน้าจะเป็นอย่างไร  จะเป็นมนุษย์ธรรมดา  หรือว่าเป็นมนุษย์พันธุ์ประหลาดก็ไม่อาจรู้ได้   แต่อีกประเด็นหนึ่งซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วไป  นั่นคือการเอากระบวนการโคลนนิ่งมาสร้างตัวอ่อนใหม่  และไม่ปล่อยให้ตัวอ่อนนี้เติบโตเป็นมนุษย์  แต่จะเอาเซลล์ที่เกิดจากตัวอ่อนนี้ไปรักษาโรค   ยิ่งไปกว่านั้นถ้าเจ้าตัวเอาเซลล์ของตัวเองมาทำกระบวนการที่ว่านี้จนกระทั่งได้เซลล์ต้นตอตัวใหม่ขึ้นมา  ก็สามารถเอาเซลล์นี้ไปปลูกถ่ายอวัยวะที่เสื่อมของร่างกายขึ้นมาใหม่  และชีวิตนี้ก็จะถูกทำลายไปเพื่อรักษาชีวิตของเจ้าตัวคนเก่า

การกระทำดังกล่าวนั้นยังยากในการตัดสินลงไปว่าเป็นบาปหรือไม่  เพราะยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าปฏิสนธิจะเริ่มต้นเป็นตัวมนุษย์กันตอนไหนอย่างไร   จะตีความกันแบบเคร่งครัดในทางศาสนาหรือจะยึดหลักการและเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่แน่ชัด   แต่สำหรับผู้เขียนแล้วคิดว่าสามารถทำได้ในบางส่วนแต่ต้องคำนึงถึงการเอื้อประโยชน์ต่อมนุษย์หรือสังคมส่วนรวมให้มากที่สุด   ตรงประเด็นนี้เองเราต้องมาทบทวนกันให้ชัดเจนเสียก่อนว่าจะส่งผลร้ายอย่างไรต่อมนุษย์  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำเอา “ชีวจริยธรรม” เข้ามาเป็นตัวกลางระหว่างข้อขัดแย้งทั้งสองฝ่าย   ไม่ใช่เอาชีววิทยามาใช้ในทางผิดๆหรือทำลายล้างมนุษย์ด้วยกันเอง  เช่นการใช้สิ่งมีชีวิตที่ทำให้เกิดโรคระบาดต่อมนุษย์  สัตว์  พืช  ที่เรียกกันว่า  อาวุธชีวภาพ  อย่างนี้ถือว่าผิดในทาง “ชีวจริยธรรม” อย่างรุนแรง

เชื่อเหลือเกินว่าโลกเรายังคงเจริญก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด  วิถีชีวิตของมนุษย์ก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา  วิทยาการใหม่ๆทางด้านการแพทย์เองโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยาศาสตร์ว่าด้วยพันธุวิศวกรรมของมนุษย์ก็ต้องมีการพัฒนาและสร้างสรรค์มากขึ้นเรื่อยๆ  ทางกฎหมายบ้านเมืองก็ต้องมีส่วนเข้ามารองรับในเรื่องดังกล่าว  เพื่อให้สังคมอยู่ในระเบียบแบบแผนอันเดียวกัน   ดังนั้นไม่ว่าจะทำสิ่งใดลงไปก็ต้องใช้จริยธรรมเข้ามาสร้างเสริมความสมดุล   เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายในสังคมมนุษย์ซึ่งมีศาสนาเป็นตัวยึดเหนี่ยว


ใส่ความเห็น

หมวดหมู่