Posted by: chaosinbooks | 17/08/2009

ปล่อยวางอย่างพุทธทาส


เป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วกันว่าประวัติความเป็นมาของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยนั้น  ดำรงอยู่ในสภาพหลากหลายความเชื่อ  ตามความศรัทธาของแต่ละกลุ่ม  แบ่งแยกแตกแขนงกันออกไป  ซึ่งมีทั้งที่เป็นแก่นแท้  และที่เป็นเพียงกระพี้  ผสมผสานกับลัทธิประเพณีหรือตามผลประโยชน์ของสังคมในปัจจุบัน  บางครั้งก็ดูขาดเหตุขาดผล  แฝงปนไปด้วยการบูชาเครื่องรางของขลังหรือแนวไสยศาสตร์จนไม่น่าเลื่อมใสศรัทธา  เหมือนเป็นตัวแปรให้พุทธศาสนามัวหมองลง

แต่เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่พุทธศาสนาในประเทศของเรายังคงดำรงอยู่อย่างเหนียวแน่น  เพราะเรามีนักเผยแผ่หลักธรรมที่โดดเด่นที่สุดท่านหนึ่ง นั่นคือ “พุทธทาสภิกขุ”  ซึ่งเป็นความภาคภูมิของคนไทย  และเป็นความภูมิใจของโลก  ท่านช่วยเปิดแสงสว่างในหลักธรรมให้คนไทยได้มองเห็นทางอันถูกต้องของชีวิต

หลักคิดของพุทธทาสมีเหตุมีผลในแนวเดียวกับแก่นแท้ของพุทธศาสตร์ดังที่พระพุทธเจ้าได้นำทางเอาไว้แล้วเมื่อสองพันกว่าปีก่อน  จะเห็นว่าพุทธศาสนานั้นเป็นหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งสามารถอ้างอิงและพิสูจน์ได้  ไม่ว่าโลกจะผันแปรไปอย่างไรก็ล้วนเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่อธิบายได้ทั้งสิ้น  เพราะหลักพุทธศาสนาเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับชีวิตของมนุษย์เราอันได้แก่การเกิด แก่ เจ็บ ตาย  สาเหตุแห่งการเกิดทุกข์และหนทางแห่งการดับทุกข์  ความไม่เที่ยงแท้แน่นอนแห่งชีวิต  ซึ่งเป็นสิ่งหลีกหนีไม่พ้น

น่าแปลกที่ว่าคนส่วนใหญ่ในทุกวันนี้ก็ยังเดินทางไปไม่ถึงหลักธรรมอันแท้จริงของพุทธศาสนา  มัวไปหลงยึดติดอยู่กับองค์พระพุทธรูป พระสงฆ์ เครื่องรางของขลัง หรือเกจิอาจารย์ชื่อดังจากสำนักต่างๆ  กลายเป็นว่าสิ่งเหล่านี้ได้บดบังพระพุทธเจ้าไปหมดสิ้น   แต่พระพุทธรูปตามแบบของท่านพุทธทาสคือ “พุทธะ” ซึ่งหมายถึงจิตอันรำลึกแล้ว ถึงพระผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน  อยู่ด้วยธรรมของพระองค์นั้น  เพราะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริงหมายถึงภาวะแห่งความบริสุทธิ์แห่งจิตใจ ฉะนั้นความปรารถนาที่จะพรากจิตออกมาจากเครื่องห่อหุ้ม ผูกพันทุกๆ อย่างนั้น จึงเป็นความปรารถนาที่มีรากฐานแน่นแฟ้นและเป็นความปรารถนาที่บริสุทธิ์ยิ่งกว่าความปรารถนาที่จะติดแน่นอยู่กับสิ่งเคารพบูชาอันเป็นแค่เครื่องสมมุติ

เป็นที่ทราบกันโดยชัดแจ้งแล้วว่า  พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้อริยสัจ คือ “ความจริงอันประเสริฐ” ท่านพุทธทาสชี้ให้เห็นว่า “ความจริงอันประเสริฐ”นั้นหมายความถึง “เท่าที่จำเป็นแก่การพ้นทุกข์” จะเห็นว่าชีวิตเราเมื่อมาพิจารณาดูแล้วเต็มไปด้วยกิเลศตัณหา และจิตใจมีแต่ความสับสนวุ่นวาย  มักยึดติดอยู่แต่ในเรื่อง “ตัวกู ของกู”  หากเรานำหลักการดังกล่าวมาเป็นเครื่องมือในการกำจัดกิเลสที่มีอยู่ในจิตใจให้บรรเทาเบาบาง  ก็เท่ากับฟอกจิตใจให้สงบเยือกเย็นลง  ไม่ว้าวุ่นอยู่กับวัตถุนิยมหรือทรัพย์สินเงินทองกลายเป็นคนหลงโลก จนแยกไม่ออกว่าสิ่งไหนคือความพอดีพองามและสิ่งไหนคือคุณธรรมจริยธรรมที่ควรยึดเหนี่ยว

การกำจัดกิเลสภายในจิตใจเป็นเรื่องจำเป็นต่อชีวิตอย่างยิ่ง นั่นหมายถึงการรู้จักทำจิตให้ว่าง  ตามปกติจิตใจของคนเราไม่อยู่นิ่ง ชอบคิดโน่นคิดนี่อยู่ตลอดเวลา  ดังนั้นจำเป็นต้องใช้ “ปัญญา”เป็นตัวกำหนด  มี “สติ”เป็นตัวกำกับ  และ “สัมปชัญญะ”เป็นตัวกำราบ  พูดง่ายๆ  ว่าพยายามทำจิตให้ว่างจากกิเลสและความยึดมั่นถือมั่นโดยไร้อวิชชามาครอบงำ

คนเราเมื่อจิตสงบ  การทำงานก็เกิดผลสำเร็จมากขึ้น  เพราะงานนั้นเดินด้วยปัญญา

ชีวิตจริงในการทำงาน  ไม่ว่าจะทำคนเดียวหรือทำร่วมกับคนอื่นเป็นหมู่คณะ  อาจมีการกระทบกระทั่งกัน  หรือมีความคิดขัดแย้งกันบ้างเป็นเรื่องธรรมดา  ในขณะนั้นจิตใจของเราจะเผชิญกับตัวตนและกิเลส  เราต้องรู้จักปราบพยศของมันให้ลดน้อยถอยลง

การทำงานก็เหมือนกับการปฏิบัติธรรม  คือได้ทั้งผลงาน  และฝึกสติปัญญาไปในตัว  ทำให้เกิดความว่างในท่ามกลางความวุ่นด้วยจิตที่กอปรไปด้วยสติปัญญาอันเปล่งปลั่งอยู่ท่ามกลางการงานนั่นเอง

นี่คือแนวทางที่ถือว่าเป็นเคล็ดลับอันวิเศษสุดในพุทธศาสนา  และเหมาะอย่างยิ่งที่คนเราควรนำไปยึดถือเป็นแนวปฏิบัติธรรมโดยแท้จริง   ทุกวันนี้คนเราต้องวิ่งวุ่นอยู่กับการแสวงหาผลประโยชน์ในทุกรูปแบบ  เหนื่อยจิตเหนื่อยใจอยู่กับทรัพย์สมบัติ  จิตใจไม่มีวันสงบ    เหมือนมีไฟมาเผาลนให้ร้อนรุ่มอยู่ตลอดเวลา  นั่นเท่ากับว่าเราเอาจิตใจไปยึดมั่นถือมั่น  ย่อมเหนื่อยหนักเป็นธรรมดา  แต่ถ้าเราปล่อยวางเสียบ้างก็จะทำให้จิตใจเบาสบาย  ไม่หลงติดกับอยู่ในวังวนแห่งวัตถุมากจนเกินไป

การเรียนรู้ในหลักธรรมก็เท่ากับทำให้เราได้เข้าใจในหลักพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมจิตให้มีความสะอาด สว่าง  และสงบอยู่เสมอในทุกอาการและในทุกที่  จนสามารถตอบสนองและกระทำต่อวัตถุหรือสิ่งต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้องถือว่ามีประโยชน์ยิ่งต่อชีวิตตัวเองและต่อเพื่อนมนุษย์

การที่มนุษย์เรารู้จักนำหลักธรรมในทางศาสนามาดับอวิชชาออกไปจากจิตใจได้นั้นย่อมก่อให้เกิดแสงสว่างแห่งปัญญา    ดีกว่าคอยรับรู้แต่ข้อมูลผิดๆ  มาสู่ชีวิต  และเข้าใจอะไรที่บิดเบี้ยวอยู่ตลอดเวลา

ท่านพุทธทาสจึงชี้หนทางให้เราหลุดพ้นในแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาว่า

“…ความปรารถนาในการพรากจิตออกมาเสียจากเครื่องห่อหุ้มทั้งปวง  จึงเป็นความปรารถนาที่บริสุทธิ์ตามหลักแห่งพุทธศาสนา


ใส่ความเห็น

หมวดหมู่